การลงประชามติของประชาชนคนอังกฤษในการตัดสินใจว่า จะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า "เบร็กซิต" (Brexit) หรือไม่ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ได้สร้างความวิตกกังวลไม่น้อยให้กับผู้คนในแวดวงต่างๆ โดยในส่วนของผู้กำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่าจากผลการทำประชามติของอังฤษว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) หรือไม่นั้น ขณะนี้เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น หากดูผลสำรวจของประชาชนที่ออกมาล่าสุด พบว่าเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้ ธปท.ต้องติดตามดูสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของอียู จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษค่อนข้างมาก โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
ด้านการค้า การออกจากการเป็นสมาชิกของอียู อาจส่งผลต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกนำเข้า จากการเป็นตลาดร่วม (single market) ในอียู ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในอียูได้รับผลกระทบ ปัจจุบันอังกฤษมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการไปยังอียูสูงถึง 45% ของการส่งออกรวม หรือคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)
นอกจากนี้ อังกฤษจะสูญเสียข้อตกลงทางการค้า ระหว่างอียูและประเทศนอกกลุ่มอียูเช่นเดียวกัน และการเจรจาใหม่อาจทำได้ยากขึ้น เนื่องจากอำนาจต่อรองของอังกฤษย่อมมีน้อยกว่ากลุ่มอียู ดังนั้น ผลที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจึงมีค่อนข้างมาก หากอังกฤษไม่สามารถคงสถานะเป็น single market กับอียูได้
ด้านแรงงาน แรงงานกว่า 3 ล้านคนของอังกฤษอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังอียู อาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตหรือสำนักงานออกจากอังกฤษ นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีความเสรีลดลงอาจส่งผลต่อกำลังแรงงานในประเทศซึ่งปัจจุบันอังกฤษพึ่งพาแรงงานต่างประเทศที่ค่อนข้างสูง รวมถึงอาจส่งผลต่อประชาชนของอังกฤษที่ทำงานอยู่ใน อียูเช่นเดียวกัน
ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ จากปัจจุบัน อังกฤษเป็นประเทศที่มี เงินจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ไหลเข้ามากที่สุดในอียู ซึ่งปัจจัยที่สำคัญของการดึงดูดบริษัทต่างชาติ คือการเป็น single market กับอียูดังนั้น การสูญเสียสถานะดังกล่าวทำ ให้ความน่าดึงดูดในการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภาพในระยะยาว
ขณะที่รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ระบุว่า ผลประชามติอังกฤษ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอังกฤษ รวมถึงกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดย OECD ประเมินว่ามูลค่าเศรษฐกิจของอังกฤษจะหายไปราว 5% ณ ปี 2573 เมื่อเทียบกับกรณีที่อังกฤษ ไม่ออกจากสหภาพยุโรป หรืออาจเทียบเคียงกับจำนวนเงินที่ครัวเรือนจะต้องจ่าย 3,200 ปอนด์ต่อครัวเรือนต่อปีไปจนถึงปี 2573
ข่าวเด่น