เดือนพ.ค.ที่ผ่านมานับว่า ครบรอบ 1 ปีของการดำเนินกิจการของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) ซึ่งสถานการณ์ของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็นเวลา 1 ปี พบว่า การปล่อยสินเชื่อไม่เติบโตตามที่คาดไว้ โดยมีบางรายเริ่มปล่อยสินเชื่อบ้างแล้วและบางรายที่ขอใบอนุญาตไปยังไม่เริ่มปล่อยสินเชื่อ เพราะต้องวางกลยุทธ์ใหม่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้
โดยได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการว่า ต้องการให้ ธปท.ปรับเงื่อนไขในการทำธุรกิจบางข้อ เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เพราะอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจ คือ ผู้ที่มาขอสินเชื่อไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายอย่างที่ได้ยื่นแผนให้ ธปท.รับทราบ เช่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เป้าหมายหรือประกอบอาชีพไม่ตรงกับที่แจ้งไว้กับ ธปท. ขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการก็ไม่ได้มาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
ซึ่งการปรับเกณฑ์เพิ่มเติมจะต้องมีการหารือร่วมกันของทุกฝ่าย เพราะการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์เป็นไลเซนส์ใหม่ อาจจะติดขัดบ้างใน ช่วงแรก การปล่อยสินเชื่อช้าไปบ้าง เพราะต้องคัดกรองลูกหนี้ให้ตรงกับเป้าหมาย และทำระบบการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพ
สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ ระบุว่า มีต้นทุนการติดตามหนี้สูงนั้น ต้องดูด้วยว่าต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ต่ำเพียง 1.5% และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ 36% นั้นตั้งบนพื้นฐานเศรษฐกิจเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่ดอกเบี้ยสูง ซึ่งอัตราดังกล่าวประเมินผลครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงของธุรกิจแล้ว ซึ่งหากธุรกิจบริหารจัดการที่ดีน่าจะคุ้มค่า
ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์โดยแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2558 จนถึง ปัจจุบันที่ ธปท. ได้เปิดรับคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ นาโนไฟแนนซ์มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบ ธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แล้ว 27 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 206,00 ล้านบาท และมีจำนวนสาขารวม 2,741 สาขา กระจายตัวทั่วประเทศ แยกเป็นกลุ่ม ผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ จำนวน 8 บริษัท กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ เช่าซื้อลีสซิ่งท้องถิ่น จำนวน 9 บริษัท กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เคยประกอบธุรกิจ สินเชื่อรายย่อย จำนวน 10 บริษัท
ทั้งนี้ ในจำนวน 27 บริษัท ปัจจุบันมี 16 บริษัทและสถาบันการเงินอีก 1 แห่ง ที่เปิดให้ บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แล้ว โดย ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2559 มีการให้สินเชื่อแล้วจำนวน 1.86 หมื่นราย วงเงินให้กู้เฉลี่ย 2 หมื่นบาท/ราย สำหรับยอดสินเชื่อเฉพาะในเดือน เม.ย. 2559 มีการปล่อยกู้ 3,068 ราย เป็นวงเงินรวม 80.9 ล้านบาท ถือว่ามีการอนุมัติในสัดส่วนที่ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และน่าจะส่งผลถึง ยอดอนุมัติในสิ้นปีนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น
ข่าวเด่น