โค-เวิร์คกิ้ง สเปซเป็นรูปแบบใหม่ของพื้นที่สำนักงานที่เข้าสู่ตลาดมาเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากเซอร์วิสออฟฟิศ มินิ-ออฟฟิศ และโฮมออฟฟิศ หรืออื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหาพื้นที่ทำงาน แต่ว่าโค-เวิร์คกิ้ง สเปซเป็นทางเลือกใหม่ในตลาดกรุงเทพมหานครหรือเป็นแค่เพียงของใหม่ของแปลกของกรุงเทพมหานคร
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมามีอัตราว่างเฉลี่ยน้อยกว่า 10% ต่ำที่สุดในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้ค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ค่าเช่าที่สูงขึ้นในทำเลที่ไม่ไกลจากเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทขนาดเล็ก สตาร์ท-อัพ และ SME”
“นอกจากนั้นธุรกิจสตาร์ท-อัพหรือ SME อาจจะยังไม่พร้อมหรือมั่นใจพอที่จะเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงาน ดังนั้นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ที่ต้องการพื้นที่ทำงานที่ดูเป็นทางการกว่าที่บ้านแต่ไม่จริงจังแบบพื้นที่สำนักงานในรูปแบบเดิมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการทำงานรวมทั้งมีภาพลักษณ์ที่ดูดี” นายสุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติม โค-เวิร์คกิ้งสเปซยังมีบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากกว่าเซอร์วิสออฟฟิศ และที่สำคัญที่สุดคือมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า ซึ่งโดยทั่วไปจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นพื้นที่ทำงาน เช่น โต๊ะทำงาน ระบบ wi-fi ความเร็วสูง ห้องประชุม รวมทั้งพริ๊นเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ
โค-เวิร์คกิ้ง สเปซเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายปีก่อนหน้านี้ทั่วโลก ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือคนที่สามารถทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตรวมทั้งพวกฟรีแลนซ์และธุรกิจสตาร์ท-อัพ และมีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ใช้เป็นนักท่องเที่ยวที่สามารถทำงานที่ใดก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตได้ ดังนั้นรูปแบบของโค-เวิร์คกิ้งสเปซจึงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้จำนวนของโค-เวิร์คกิ้งสเปซเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในสหรัฐ อเมริกา ยุโรป และทั่วเอเซียรวมทั้งในประเทศไทย
จำนวนของโค-เวิร์คกิ้ง สเปซในประเทศไทย
ที่มา: บริษัท ฮับบ้า จำกัด และฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ความนิยมของโค-เวิร์คกิ้ง สเปซในประเทศไทยก็เริ่มมีมากขึ้นตามกระแสโลก โค-เวิร์คกิ้ง สเปซเริ่มมีขึ้นในกรุงเทพมหานครในปีพ.ศ.2555 หลังจากที่พื้นที่รอบนอกโดนน้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2554 คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่บริษัท ดังนั้นจึงทำงานที่บ้านแทน หลังจากนั้นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดรับกับจำนวนของฟรีแลนซ์หรือคนที่สามารถทำงานที่บ้านได้เพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งโค-เวิร์คกิ้ง สเปซมีความเหมาะสมกับคนที่ทำงานในกลุ่มนี้
ผู้ให้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซในประเทศไทยขยายการให้บริการของตนเองไปในทำเลใหม่ และมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมารวมทั้งมีการร่วมทุนกับพันธมิตรอื่นๆ โดยเฉพาะในอนาคตอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในเรื่องนี้นายสุรเชษฐ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าการยอมรับว่าโค-เวิร์คกิ้ง สเปซเป็นอีกรูปแบบของสถานที่ทำงานจะขยายไปในวงกว้างมากขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในตลาดอาคารสำนักงานเท่านั้น ผลกระทบที่อาจจะมีต่ออาคารสำนักงานแบบทั่วไปคือการออกแบบหรือว่าการจัดการอาคารสำนักงานที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นคงไม่เหมือนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงการค้าปลีกแบบเดิมๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของช็อปปิ้งออนไลน์”
“อีกทั้งในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกผู้ให้บริการเซอร์วิสออฟฟิศรูปแบบเดิมๆ เผชิญกับความท้าทายจากโค-เวิร์คกิ้งสเปซ ผู้ประกอบการเซอร์วิสออฟฟิศรายใหญ่บางรายมีการปรับพื้นที่ของตนเองเพื่อให้สามารถให้บริการได้ทั้งเซอร์วิสออฟฟิศ และโค-เวิร์คกิ้ง สเปซในพื้นที่เดียวกัน เช่น รีจัสในสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับผู้ให้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซบางราย เช่น วีเวิร์คของสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปในตลาดเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกงอีกทั้งยกระดับตัวเองเป็นบริษัทระดับโลกที่มีการขยายตัวต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ นอกจากนี้อาจจะมีการขยายมายังประเทศไทย และผู้ให้บริการเซอร์วิสออฟฟิศในประเทศไทยบางรายอาจจะเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนไปเป็นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อผู้ให้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซและอาคารสำนักงานต่างๆ ในประเทศไทย” สุรเชษฐ สรุป
ข่าวเด่น