การค้า-อุตสาหกรรม
ปูนอินทรีทุ่ม 1,200 ล้าน สร้างโครงการ 'อินทรีสมาร์ท'


 


ปูนอินทรี เดินหน้าพัฒนาระบบไอที สนองนโยบาย Digital Economy ของภาครัฐ หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และบริการลูกค้า ทั้งด้านบริหารจัดการ การขนส่ง การบริหาร ต้นทุน และการควบคุมผ่านส่วนกลางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวสูง
 

นายศิวะ มหาสันทนะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง  จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจแบบ Digital Economy ดังนั้น องค์กรจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาระบบไอที ให้พร้อมสำหรับการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิตอล และ นวัตกรรมก้าวหน้าเข้ามาเป็นเครื่องมือเสริมทัพธุรกิจแก่องค์กรและคู่ค้า
 
 

โดยได้วางโรดแมพไว้ 2 ระยะ ระยะที่ 1 คือ โครงการปรับปรุง และติดตั้งระบบไอที ซึ่งเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา เริ่มแรกเป็นการใช้งานภายในองค์กร และบริษัทในเครือ ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มต้นในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือใน 2560 ทางด้านดิจิตอล ซึ่งจะเป็นการ ปรับปรุงระบบไอทีอีกครั้ง โดยจะเน้นการนำไอทีมาใช้เพื่อประโยชน์ในด้านการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการขยายการให้บริการด้านไอทีไปสู่ พันธมิตรคู่ค้าภายนอกองค์กรไม่ว่าจะเป็น ซัพพลายเออร์ หรือตัวแทนจำหน่าย

“การดำเนินงานในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า โครงการ "อินทรีสมาร์ท" (INSEE SMART Project) ประกอบด้วย การปรับปรุงและติดตั้งระบบไอทีใหม่ทั้งระบบ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ การติดตั้งแอพพลิเคชั่นหลักตัวใหม่อย่างระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) และระบบสำหรับ การทำงานร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอ็นด์ยูสเซอร์ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวอุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนตัวเครื่อง ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท” นายศิวะ กล่าว

สำหรับหนึ่งในโครงการที่ดำเนินงานภายใต้ โครงการ "อินทรีสมาร์ท" ระยะที่ 1 คือ โครงการ INSEE Connect Platform ใช้งบประมาณกว่า 26 ล้านบาท เป็นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเชื่อมการติดต่อระหว่างกลุ่ม บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงและลูกค้า ในรูปแบบ e-Commerce บนพื้นฐานระบบ Cloud Computing – Salesforce.com ซึ่งจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ระบบ ERP (SAP - HANA) ที่เป็นฐานข้อมูลหลักขององค์กร  ระบบ SOS ซึ่งเป็น workflow สำหรับการขออนุมัติของเซลล์ให้กับลูกค้า ระบบบริหารการจัดส่งสินค้า (Auto plant) ระบบการชำระเงิน Internet Banking ของธนาคารต่างๆ และระบบ Smart Purse เพื่อรองรับในการแลกของรางวัลเป็นเงินสด เติมเข้าบัตร สมาชิกของลูกค้าเอง

ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บอยู่ที่ศูนย์กลางเดียวกัน ทำให้ระบบมีการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นทาง แบบเรียลไทม์และถูกต้อง ดังนั้น ข้อมูลที่ลูกค้า และหน่วยงานต่างๆ ในบริษัทเห็น จึงเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ทั้งองค์กร และสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน ทำให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากขึ้น เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายและแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มิ.ย. 2559 เวลา : 07:31:31
18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 7:25 pm