EXIM BANK เปิดบริการใหม่ 'ประกันส่งออกทันใจ SMEs' ลดขั้นตอนสมัคร และอนุมัติรวดเร็วทันใจภายใน 1 วัน พร้อม เคลมสูงสุดถึง 1 ล้านบาท กรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ มุ่งช่วยให้ผู้ส่งออก SMEs ไทยกล้าตัดสินใจค้าขาย และพร้อมรับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อรายใหม่
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เผยว่า เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นคือ การทำประกันการส่งออกทุกครั้งที่ส่งออก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกกล้าเสนอเงื่อนไขการค้าที่ผ่อนปรนได้มากกว่าคู่แข่ง รวมทั้งกล้าค้าขายในตลาดใหม่หรือกับผู้ซื้อรายใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีฐานทุนทางธุรกิจไม่มากนัก ดังนั้น EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ส่งออก SMEs ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการสมัคร อนุมัติ และความคุ้มครองผู้ซื้อเฉพาะรายที่อาจเพิ่งรู้จักและยังไม่คุ้นเคย เรียกว่า “ประกันส่งออกทันใจ SMEs” (Instant SMEs Export Insurance)
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อว่า บริการดังกล่าวเป็นบริการประกันการส่งออกรูปแบบใหม่ที่สมัครง่าย อนุมัติเร็วภายใน 1 วัน และคุ้มครองทันทีที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 85% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ วงเงินสูงสุดถึง 1 ล้านบาท โดยคุ้มครองความเสี่ยงจากผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศผู้ซื้อ เช่น การควบคุมการโอนเงิน การห้ามนำเข้าสินค้า สงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร ทั้งนี้ EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนทันทีกรณีผู้ซื้อล้มละลาย และจ่ายภายใน 120 วันกรณีผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินและอื่นๆ รวมทั้งติดตามหนี้ให้
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำบริการนี้ขึ้น เพื่อเน้นช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กให้ได้ทำการค้าระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น และปลอดภัยขึ้น โดยที่ทางเราไม่หวังผลกำไร และคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการนี้ประมาณ 50% เทียบเท่ากับ 800 ราย(เทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา) โดยมีความเสี่ยงของผู้ค้าที่ค้างชำระประมาณ 2 – 4% จากทั่วโลก แต่ของทาง Exim Bank เองมีน้อยกว่า 1%
ในสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 35% ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นลูกค้าประกันที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ประมาณ 200 ราย ที่มีวงเงินในการคุ้มครองกว่า 6 หมื่นล้านบาทจาก 2 ปี และมีผู้ประกอบการรายเล็กมีวงเงินในการคุ้มครอง 5 แสนบาท ซึ่งมีการกระจายความเสี่ยง 0.5 % ของผู้ประกอบการรายย่อย และขาดความมั่นใจในด้านเศรษฐกิจของโลกที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วๆนี้ เพราะหากเกิดความผันผวนของค่าเงินต่างๆ ก็จะทำให้ออร์เดอร์สินค้ามีการเปลี่ยนแปลง
โดยมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถอนุมัติการให้บริการได้ อาทิ ผู้ประกอบการมีประวัติหรือข้อมูลในเชิงลบ รวมถึงไม่มีอาชีพหรือตัวตนที่ชัดเจนแน่นอน และไม่หวั่นเกี่ยวกับโอกาสที่ผู้ประกอบการจะไม่ชำระหนี้ เพราะมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อย เนื่องจากก่อนที่จะอนุมัติให้บริการได้นั้น ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของทั้งผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ประกอบการที่จะเป็นคู่ค้าที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการทำการค้า และภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ EXIM BANK จะทำข้อตกลงกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank) เพื่อร่วมมือช่วยกันดูแล พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางในการกระจายสินค้า รวมถึงเพื่อให้ผู้ประกอบการรู้สึกอุ่นใจกล้าที่จะลงทุนไปสู่เวทีโลก
ข่าวเด่น