หลังการลงประชามติของสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ซึ่งปรากฏผลว่า 52 % ต้องการออกจากอียู และ48% ต้องการอยู่ต่อ ทำให้ในที่สุดอังกฤษต้องออกจากอียู ซึ่งนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป ได้ออกแถลงหลังทราบผลประชามติดังกล่าว โดยยอมรับว่า ทุกฝ่ายในอียูต้องการให้ผลออกมาในทางตรงกันข้าม แต่อียูเคารพการตัดสินใจของชาวสหราชอาณาจักร และพร้อมที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวต่อไปในฐานะประชาคมที่มีสมาชิก27 ประเทศ โดยจะมีการประชุมด่วนร่วมกันในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ผลการลงประชามติที่ออกมา ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่จะลาออกจากสหภาพ หลังอยู่ร่วมเป็นสมาชิกมานาน 43 ปี หรือนับตั้งแต่สมัยยังเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ( อีอีซี ) โดยรัฐบาลเวสต์มินสเตอร์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ฉบับปี 2552 ตามกระบวนการลาออกจากสหภาพ แต่การเจรจาอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น เนื่องจากมีประเด็นสำคัญหลายด้าน เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ที่รวมถึง ข้อตกลงเรื่องการให้สหราชอาณาจักรเข้าถึงตลาดเดียวในอนาคต เช่นเดียวกับนอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์
ซึ่งผลการลงประชามติของอังกฤษที่เกิดขึ้น ยังอาจส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นในอียู เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศในอียูอยู่ในภาวะที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จนอาจเป็นเหตุผลให้ประเทศต่างๆ นำมาเป็นเงื่อนไขและใช้ประโยชน์ทางการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยจะเห็นได้จากล่าสุด นายแกรต ไวเดอร์ส หัวหน้าพรรคดัตช์ ปาร์ตี้ ฟอร์ ฟรีดอม ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ ประกาศว่า จะจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในเดือนมี.ค. หลังจากอังกฤษที่เสร็จสิ้นการลงประชามติดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา
โดยนายไวเดอร์ส ย้ำว่า “เราต้องการควบคุมดูแลประเทศของเรา เงินของเรา พรมแดนของเรา และนโยบายผู้อพยพของเราเอง”
ซึ่งในแถลงการณ์จากนาย ไวเดอร์ส ระบุว่า เนเธอร์แลนด์ควรได้รับโอกาสในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และผลสำรวจจากสถานีโทรทัศน์ เอน วานดาค บ่งชี้ว่า ประชาชนดัชต์ราว 54% ต้องการให้จัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียู
ข่าวเด่น