ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK ออกบทวิเคราะห์ ผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยจาก BREXIT
ผลการลงประชามติ : สหราชอาณาจักรต้องการออกจาก EU
สุดท้ายผลการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจักร (UK) แสดงให้เห็นว่าต้องการที่จะให้ UK แยกตัวออกจาก EU โดยกลุ่มผู้สนับสนุนให้ UK ออกจาก EU ได้คะแนนโหวต 52% ขณะที่กลุ่มสนับสนุนให้อยู่ต่อได้ 48% หลังจากนี้ UK ยังจะต้องใช้เวลาเจรจากับ EU อีกอย่างน้อย 2 ปีถึงรูปแบบการออกจาก EU โดยเฉพาะข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ในระยะสั้นยังไม่อาจถือได้ว่า UK ได้ออกจาก EU แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นความผันผวนของค่าเงินปอนด์ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น ขณะที่ผลที่แท้จริงของการออกจาก EU ทั้งภาวะเศรษฐกิจและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ
ระยะสั้น
• ค่าเงิน เงินปอนด์ของ UK มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากความไม่มั่นใจในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
เงินปอนด์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าใน UK แพงขึ้นและบั่นทอนความต้องการบริโภคสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น ได้แก่
- รถยนต์และส่วนประกอบ (สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไป UK) โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่า ทำให้ราคารถยนต์นำเข้าใน UK ปรับสูงขึ้น ผู้ใช้รถยนต์จึงชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาด UK คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของตลาดส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย ทำให้ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
- รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ตลาด UK คิดเป็นสัดส่วนถึง 9% ของมูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์ทั้งหมดของไทย โดย Big Bike เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
- อัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
- ไก่แปรรูป พึ่งพาการส่งออกไป UK ถึง 28% ของตลาดส่งออกไก่แปรรูปรวมของไทย ซึ่งคาดว่าในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากผู้นำเข้าของ UK มีแนวโน้มต่อรองราคาไก่แปรรูปลง แต่ยังถือเป็นสินค้าจำเป็นและไม่มีผู้ผลิตไก่แปรรูปอื่นที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดโลก ทำให้คาดว่าปริมาณส่งออกจะลดลงไม่มากนัก
- ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว UK มีสัดส่วน 3.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย ซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาไทยลดลงในระยะสั้นจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นหลังเงินปอนด์อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ภาวะการท่องเที่ยวไทยโดยรวมยังมีแนวโน้มดีจากตลาดอื่น อาทิ จีน และรัสเซีย
ระยะยาว
• ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจของ UK มีแนวโน้มชะลอตัวจาก Brexit เนื่องจากคาดว่าจะมีภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะบริการทางการเงิน ย้ายฐานออกจาก UK ไปยัง EU
• นโยบาย ปัจจุบัน EU มีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมของตนอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการโควตานำเข้าสินค้าบางประเภท และมาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (AD) ซึ่งในเบื้องต้นหาก UK ออกจาก EU อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าที่ UK ต้องการนำเข้า
• ความเป็นตลาดเดียวกันของ EU ผู้ผลิตใน EU จะสูญเสียความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าไปยัง UK เช่นเดียวกับผู้ผลิตใน UK ก็จะสูญเสียความได้เปรียบในการส่งออกไป EU นอกจากนี้ สมาชิก EU ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจาก Brexit อาทิ ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์อาจต้องการออกจาก EU ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือและสก็อตแลนด์อาจต้องการแยกตัวออกจาก UK เพื่อกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU
- ไก่แปรรูป ปัจจุบัน EU กำหนดโควตานำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ซึ่งหาก UK ออกจาก EU จะเปิดโอกาสให้การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไป UK ไม่ถูกจำกัดจากโควตาดังกล่าว และไทยยังมีโอกาสส่งออกไปประเทศอื่นใน EU ภายใต้โควตาดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น
- ข้าวโพดหวานกระป๋อง ปัจจุบัน EU เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) ข้าวโพดหวานกระป๋องจากไทยในอัตรา 3.1-14.3% ดังนั้น Brexit อาจทำให้ไทยส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องไป UK ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ถูกเรียกเก็บ AD ดังกล่าว
- ทูน่ากระป๋อง ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารทะเลกระป๋องรายใหญ่ของไทยเข้าไปซื้อกิจการโรงงานผลิตปลากระป๋องรายสำคัญในฝรั่งเศส และมี UK เป็นตลาดจำหน่ายสำคัญ ดังนั้น Brexit จะทำให้ความได้เปรียบจากการส่งออกสินค้าจากฝรั่งเศสไป UK ลดลง
ข่าวเด่น