เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐเล็งออกกฎหมายปฎิรูประบบสหกรณ์ไทย






 


หลังการล้มละลายของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น   ที่สร้างความเสียหายกับประชาชนหลักหมื่นล้านบาท    ทำให้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะกำกับดูแลสถาบันการเงินประเภทนี้อย่างจริงจัง  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่กู้และฝากเงิน  รวมถึงการสร้างความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงินไทย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี   จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   ร่วมกันจัดทำกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น    เพราะปัจจุบันการดำเนินงานสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มักประสบปัญหาหลายอย่าง    โดยเฉพาะทางด้านการเงินจึงต้องการให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบภายในเดือนกันยายนนี้

ขณะที่ภาพรวมของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ทั้งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 59 ที่ผ่านมาพบว่า   มีมากถึง 8,270 แห่ง  แบ่งเป็นสหกรณ์ที่มีสถานะดำเนินการแล้ว 6,851 แห่งยังไม่เริ่มดำเนินการ  290 แห่ง   และสหกรณ์ที่มีสถานะเลิกแล้ว 1,129 แห่ง ในจำนวนทั้งหมด   ได้แบ่งออกเป็นสหกรณ์ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ สหกรณ์ภาคการเกษตร 4,706 แห่งประกอบด้วย สหกรณ์การ เกษตร 4,500 แห่ง สหกรณ์ประมง 110 แห่ง และสหกรณ์นิคม 96 แห่งส่วนอีกแบบ เป็นสหกรณ์นอกภาคการเกษตร มีทั้งหมด 3,564 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,496 แห่งสหกรณ์ร้านค้า 241 แห่งสหกรณ์บริการ 1,269 แห่ง    และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 558 แห่ง
         
ด้านนายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์    รองนายกฯ กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานด้านสหกรณ์   เพราะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งช่วยแก้ปัญหาความยากจน และสนับสนุนการประกอบอาชีพในลักษณะของการช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า  ภาคการเกษตรที่มีประชากรกว่า 30 ล้านคนสามารถสร้างรายได้ในประเทศได้เพียง 10%  โดยจากนี้ไปต้องใช้สหกรณ์ให้เป็นประโยชน์แต่ต้องให้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเลือกผู้จัดการ และทีมงานที่มีความสามารถให้สหกรณ์เป็นพี่เลี้ยงให้สมาชิกได้
 

ขณะที่นายวิรไท   สันติประภพ    ผู้ว่าการธปท. เปิเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงการกำกับดูแลบริการทางการเงินภาคประชาชน รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย เช่นเดียวกับพิโคไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์    ซึ่งการกำกับดูแลจะแตกต่างจากสถาบันการเงินที่ ธปท.ดูแล เพราะใช้ทักษะต่างกัน   การจัดตั้งองค์กรกลางมาดูแลสหกรณ์และบริการทางการเงินเหล่านี้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคลังน่าจะดีกว่าอยู่กับ ธปท.  และควรมีการดูแลด้วย เพราะหากเกิดปัญหาอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมได้
 

ส่วนนางทองอุไร   ลิ้มปิติ   รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวสนับสนุนว่า  การจัดตั้งองค์กรกลางมาดูแลสหกรณ์เป็นเรื่องที่ดี    เพราะสหกรณ์ยังไม่เคยมีหน่วยงานกำกับมาก่อน    มีแต่หน่วยงานส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ดูแลรายย่อย และปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์มีการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น คือ  นอกจากให้กู้กับสมาชิกแล้ว ยังให้กู้กับองค์กรอื่น รวมถึงสหกรณ์เองก็ไปกู้ธนาคารพาณิชย์ด้วย จากเดิมที่คิดกันว่า บริการการเงินของสหกรณ์เป็นระบบปิด แต่เมื่อเปิดมากขึ้น ก็อาจกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศได้ และการกำกับดูแลยังป้องกันไม่ให้สหกรณ์เกิดปัญหาเหมือนกรณีเครดิตคลองจั่น
 

นายธีรภัทร   ประยูรสิทธิ   ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ประชุมนัดแรกมีมติตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบรายละเอียดของสหกรณ์ที่เหมาะสม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนของ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น  โดยตั้งเป้าหมายดำเนินงานให้เสร็จภายไปเดือน พ.ย.59 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติพิจารณาต่อไป

 
 
สำหรับการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ มีโจทย์ที่คณะทำงานต้องปฏิบัติ 3 ข้อ คือ 1.ธนาคารต้องเป็นศูนย์กลางสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเงินของสมาชิก 2.ต้องมีการคุ้มครองเงินฝากให้กับสมาชิก และ 3.การดำเนินการจัดตั้งธนาคาร ต้องไม่ให้กระทบสิทธิประโยชน์ของสมาชิก นอกจากนี้ ยังได้จ้างที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันการจัดการเพื่อพัฒนาชนบทและสังคม ศึกษาการจัดตั้งสหกรณ์ 4 รูปแบบคือ 1.กองทุนพัฒนาและคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ 2.สถาบันระดับยอด (APEX) เครือข่ายการเงินระหว่างสหกรณ์ประเภทเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ 3.ศูนย์กลางการเงินสหกรณ์ และ 4.ธนาคารสหกรณ์.
 

LastUpdate 28/06/2559 06:20:26 โดย :
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:31 am