กองทุนรวม
กูรูทิสโก้ชี้ Brexit ทำยุโรปแย่ยาว แต่กระทบไทยจำกัด


 

กูรูทิสโก้ชี้ Brexit ทำยุโรปแย่ยาว แต่กระทบไทยจำกัด แนะลดพอร์ตหุ้นยุโรป  เพิ่มน้ำหนักลงทุน หุ้นญี่ปุ่น  และ  กองทุนอสังหาฯ ในญี่ปุ่นกับสหรัฐ 


 
หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ESU ทิสโก้ ชี้ Brexit ส่งผลกระทบต่อไทยสั้นและจำกัด เหตุสัดส่วนการส่งออกไทยไปอังกฤษยังน้อย มั่นใจผู้ประกอบการปรับตัวได้ มองธนาคารกลางทั่วโลกกดดอกเบี้ย-อัดฉีดมาตรการผ่อนคลายรับมือ Brexit แต่ยุโรปพื้นฐานแย่ลงแนะนำลดน้ำหนักลงทุนในยุโรปไปก่อน  เพิ่มน้ำหนักลงทุน หุ้นญี่ปุ่น กองทุนอสังหาฯ US REITs และ J-REITs รับอานิสงส์ดอกเบี้ยต่ำ แถมให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
            
 
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) กล่าวว่าการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านค่าเงินปอนด์ซึ่งอ่อนค่าและส่งผลกดดันรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยหลังผลประชามติค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมาแล้วราว 10% เทียบกับค่าเงินบาท แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปอังกฤษ คิดเป็นเพียง 1.8% ของการส่งออกทั้งหมดในปีที่แล้ว
 
 
โดยสินค้าการส่งออกยานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปอังกฤษ (คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกไทยไปอังกฤษในปี 2015) จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจสูง ซึ่งเห็นได้จากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2009 ที่ยอดส่งออกรถยนต์ไปอังกฤษหดตัว -55.1% YoY หดตัวแรงกว่ายอดส่งออกรวมที่หดตัว -17.7% อย่างไรก็ดีตลาดส่งออกยานยนต์ของไทยมีการกระจายตัวในหลายประเทศ และยอดส่งออกรถยนต์ไปอังกฤษคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.8% ของยอดส่งออกรถยนต์รวม จึงทำให้เราคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะปรับตัวได้ไม่ยากนัก
            
เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับสอง (คิดเป็นสัดส่วน 18% ของการส่งออกไทยไปอังกฤษในปี 2015) น่าจะได้รับผลกระทบที่จำกัดเช่นกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นซึ่งความต้องการบริโภคไม่ได้ผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้เนื้อสัตว์ส่งออกของไทยไปยังอังกฤษยังมีคู่แข่งค่อนข้างน้อย โดยอังกฤษพึ่งพาการนำเข้าเนื้อไก่จากไทยนับเป็นครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมด
            
ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก กรณี Brexit น่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม เพื่อจำกัดผลกระทบทางเศรษฐกิจและบรรเทาความผันผวนของตลาดการเงิน โดยเราคาดธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps เป็น 0.25% ในการประชุมวันที่ 4 ส.ค. และอาจมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือกลับมาทำ QE อีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะมีการยืดอายุมาตรการ QE ออกไปอีก 6 เดือนไปเป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2017 ในการประชุมในช่วงไตรมาส 3 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะประกาศลดดอกเบี้ยลงอีก (ให้ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -0.2%) ในการประชุมวันที่ 29 ก.ค. นี้
           
ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เราคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยชะลอออกไปอีกหลังเกิด Brexit โดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าประเมินความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ลดลงจากราว 40% ก่อนหน้าประชามติเหลือเพียง 8% ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นตลาดบางส่วนยังคาดการณ์ว่า Fed อาจกลับมาพิจารณาลดดอกเบี้ย โดยความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 20%
           
แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลก ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกเป็นเวลานาน ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลบวกต่อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและมีความผันผวนต่ำ เช่น REITs โดยเฉพาะในสหรัฐฯ (US REITs) และญี่ปุ่น (J-REITs) ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ  
นอกจากนี้จากการที่นักลงทุนช็อคกับข่าว Brexit แล้วลดความเสี่ยงด้วยการเข้ามาถือเงินเยนมากขึ้นจนค่าเงินเยนแข็งค่าส่งผลในเชิงลบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลงมาอย่างแรงไม่แพ้ตลาดหุ้นในแถบยุโรป อย่างไรก็ดีเรามองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเพราะเชื่อว่าเมื่อนักลงทุนคลายความกังวลก็จะเริ่มขายเงินเยนออกมาเนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรญี่ปุ่นในตอนนี้ยังให้ผลตอบแทนที่ติดลบ สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในหุ้นยุโรปควรหาโอกาสลดน้ำหนักการลงทุนลงมาบ้างเพราะในระยะยาวยังมีความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในอังกฤษและยุโรป ทั้งนี้ ทางดอยช์แบงค์ได้ประมาณการณ์ว่าการที่อังกฤษออกจากยุโรปจะส่งผลให้เศรษฐกิจของอังกฤษและยุโรปปรับตัวลดลง


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ค. 2559 เวลา : 07:35:59
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:00 am