แบงก์-นอนแบงก์
แบงก์กรุงศรีคงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ระดับ 3.00% มองBrexit กระทบไทยวงจำกัด


 


เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม  นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ต บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แถลงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลัง ของปี2559 แนวโน้มค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย 

 
 
 
ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ต บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึง  สภาวะตลาดการเงินหลังผลประชามติอังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป( Brexit)ว่า  อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะอยู่ในระดับต่ำอย่างยาวนาน  ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้แต่ครั้งเดียวในปีนี้  อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก Brexit ต่อไทยมีจำกัด โดยอังกฤษคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย ระดับความรุนแรงและความผันผวนเทียบไม่ได้กับวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008  เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดโลกยังมีมาก หลังธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 
 
 

แนวโน้มตลาดการเงินช่วงครึ่งหลังของปี 2559   โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ลดลง ขณะที่การเลื่อนเวลาขึ้นดอกเบี้ยของเฟดช่วยจํากัดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง แต่ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะกดดันบรรยากาศการลงทุน ในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน  โดยกระแสการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้การคาดการณ์ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ซับซ้อนขึ้น ทำให้เป็นการเพิ่มความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก

 
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง 2559จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้จะอยู่ที่ 3% มีปัจจัยหนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่ทยอยออกมา  ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ภาวะภัยแล้งที่บรรเทาลงทำให้การบริโภคและกำลังซื้อจากครัวเรือนภาคเกษตรฟื้นตัวดีขึ้น ต้นทุนราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ 
 
 
 

 
 
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเปราะบาง  การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและเอกชน  หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกระทบต่อการบริโภค 
 
 

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโบายของไทย คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดสิ้นปี 2559โดยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.)ยังจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและจะเก็บมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยไว้ใช้ในภาวะจำเป็น
 

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะผันผวนเล็กน้อย โดยเคลื่อนไหวแกว่งตัวในกรอบแคบๆ และอาจแข็งค่าขึ้นในไตรมาส 3/59 ไปที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีกระแสเงินจากต่างชาติไหลเข้าในพันธบัตรระยะสั้น 1-5 ปีเป็นจำนวนมาก  จากนั้นในไตรมาส 4/59 คาดว่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อยที่ 35.50บาท/ดอลลาร์  ทั้งนี้  ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า โดยอาจแข็งค่าถึง 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1ปี 2560 และอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2/2560
 

นายตรรก ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าโภคภัณฑ์ในระยะสั้นอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่โครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปจะจำกัดขาขึ้นของราคาในระยะยาว สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งอิงกับการบริโภคมีแนวโน้มสดใสกว่าวัตถุดิบซึ่งใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่จีนปรับโมเดลการเติบโต
 

สำหรับผลกระทบที่มีผลต่อตลาดการเงินไทยพอสมควร  ธนาคารแนะนำให้ผู้ประกอบการปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองในการทำการติดต่อค้าในช่วงครึ่งปีหลังที่สถานการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนอยู่ 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2559 เวลา : 18:28:37
11-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 11, 2025, 11:58 am