เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เปิดรายงานประชุมกนง.มองแนวโน้มตลาดเงินยังผันผวน-Brexitกระทบไทยจำกัด


 


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2559 วันที่ 22 มิถุนายน 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2559มีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมนายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายจำลอง อติกุล นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายอภิชัย บุญธีรวร  ส่วนกรรมการที่ลาประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 มีสัญญาณฟื้นตัวจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น โดยเครื่องชี้กิจกรรมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลื่อนการขึ้นภาษีการขาย (Sales Tax) ออกไป แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชีย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก อาทิ การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศต่างๆ ที่ส่งผลให้ความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชียลดลง รวมถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภทให้กับจีน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชียไม่รวมจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความอ่อนแอของ ภาคการส่งออกจะมีผลบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในระยะต่อไป

ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเบ้ไปด้านต่ำ โดยปัจจัยเสี่ยงที่คณะกรรมการฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) เสถียรภาพของภาคการเงินจีน โดยประเมินว่าภาวะการเงินของจีนอาจตึงตัวขึ้น ในระยะต่อไปตามความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ การระดมทุนผ่านช่องทางที่อยู่นอกระบบธนาคาร อาทิ บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทย่อยของบริษัทจัดการกองทุน (subsidiaries of fund companies) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยลดทอนความตึงตัวของภาวะการเงินในระยะสั้นลงบ้าง แต่ก็ทำให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของภาคการเงินจีนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินโลกของผล การลงประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) โดย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในกรณีที่คะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรป ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนขึ้นมากในระยะสั้น และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการค้าและการลงทุนของเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักรในระยะยาว 

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของกระแสการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอื่นๆ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงของ Brexit ต่อเศรษฐกิจเอเชียอาจมีไม่มากเนื่องจากความเชื่อมโยงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรที่ค่อนข้างจำกัด แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในกรณีที่ Brexit ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ


ภาวะตลาดการเงิน
ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้นภายหลังการประชุมในเดือนพฤษภาคม โดยค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่เมื่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ค่าเงินในภูมิภาคกลับแข็งค่าขึ้น และล่าสุดในช่วงใกล้การประชุมครั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับ Brexit ทำให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (safe-haven assets) และรอดูทิศทางของสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น แม้โดยเฉลี่ย
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ในระดับใกล้เคียงกับการประชุมครั้งที่แล้ว แต่ค่าความผันผวนปรับสูงขึ้นในบางช่วงเวลา สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นทุกระยะ ส่วนหนึ่งเพราะข้อมูลเศรษฐกิจ ไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2558

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป โดยเป็นผลจากความไม่แน่นอนและความแตกต่างของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก (monetary policy divergence) และความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกที่อ่อนไหวมากขึ้น ทั้งนี้ ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะสั้นจาก Brexit เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจะมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
 
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังคงเบิกจ่ายได้ดี และการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวได้มากกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ โดยมีการเติบโตของรายได้และการจ้างงานในภาคบริการเป็นแรงสนับสนุน ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มฟื้นตัวตามราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราประกอบกับปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย แต่กรรมการส่วนหนึ่งมีข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายที่สูงขึ้นอยู่ในหมวด
การบันเทิงและนันทนาการที่อาจไม่ได้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้จ่ายส่วนหนึ่งในหมวดนี้สะท้อนการใช้จ่ายของคนไทยเพื่อท่องเที่ยวในต่างประเทศ จึงอาจไม่เอื้อต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากนัก กนง. จึงยังต้องติดตามประเมินความเข้มแข็งของการบริโภคภาคเอกชนต่อไป 

นอกจากนี้ กนง. เห็นว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในภาคบริการจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทยการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับการมีเครื่องชี้ด้านบริการมากขึ้นกว่าในอดีต สำหรับการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของโครงสร้างการค้าโลกชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ยังมีกาลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชนจึงยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำแม้ได้รับผลดีบางส่วนจากการลงทุนของภาครัฐ สอดคล้องกับการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ยังคงมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้และการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.)ที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาตามความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งนี้ อัตราการใช้วงเงินสินเชื่อ ธพ. ที่ลดลงสะท้อนให้เห็นว่าการชะลอตัวของสินเชื่อ ธพ.อาจมาจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงเป็นหลัก
 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เท่ากับที่ประเมินไว้ ในการประชุมครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.1 โดยแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชย การส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด ความสามารถในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนที่อาจน้อยกว่าคาดจาก หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี ความกังวลด้านภัยแล้งลดลงหลังจากฝนเริ่มกลับมาตกตามฤดูกาล สาหรับในปี 2560 อุปสงค์ในประเทศคาดว่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้จากการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจคู่ค้า คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 3.3

แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อนตามอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่สูงขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่โน้มสูงขึ้นบ้างและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมที่ปรับเป็นบวกมากขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งตัว โดยรวมแล้ว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2559 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.8 ตามล่าดับ และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 สำหรับใน ปี 2560 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ แต่อาจมีความไม่แน่นอนจากแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป

เสถียรภาพการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks) รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) และครัวเรือนที่มีแนวโน้มด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SMEs และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ต่อสินเชื่อรวมที่เริ่มปรับสูงขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท
การดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมครั้งนี้ โดยให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้ความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัว ต่ากว่าคาดและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง 

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ตามที่ได้คาดไว้ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาพลังงานในตลาดโลก ในขณะที่ การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังคงอยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ที่อยู่ในระดับต่ำ
 
รวมถึงการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้แม้ธุรกิจบางกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ อนึ่ง กรรมการบางส่วนเห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ยังจะช่วยรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ในยามจำเป็นที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ความเสี่ยงในภาคการเงินจีน รวมถึงความเสี่ยงในกรณี Brexit ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวม เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
 
 

LastUpdate 06/07/2559 10:02:59 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:26 am