ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์' เสริมศักยภาพการผลิตด้วยธุรกิจบริการ'
Highlight
อุตสาหกรรมการผลิตกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การบริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (Manufacturing-Related Services หรือ MRS) อาทิ การออกแบบ การให้คำปรึกษา หรือการติดตั้งก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าผู้ผลิตในประเทศยังมีโอกาสที่จะนำเสนอการบริการดังกล่าวที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การออกแบบ การจัดการของเสีย หรือการบริการขั้นสูงอื่นๆ ซึ่งในตอนนี้ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
การบริการกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในธุรกิจการผลิต ในช่วงปี 2008-2009 ซึ่งได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าลดลงอย่างมาก ในขณะที่การส่งออกด้านบริการไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก สะท้อนได้ว่าการบริการมีวงจรที่ซับซ้อน (cyclical) น้อยกว่าสินค้าทั่วไป รวมถึงยังช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจและเข้าถึงผู้บริโภคได้แม้ในช่วงเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังเอื้อให้ผู้ผลิตสามารถใช้บริการดังกล่าวเพื่อปรับแต่งสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค รวมถึงทำให้สินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้น จากที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้ผลิตทั่วโลกหลายรายหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตมากขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า ในปัจจุบัน ผู้ผลิตในประเทศพัฒนาแล้วได้รับรายได้ที่มาจากธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตราว 25-50% ทั้งนี้ การที่ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกเข้ามาลงทุนในธุรกิจให้บริการรถในรูปแบบร่วมเดินทาง เช่น อูเบอร์ (Uber) และลิฟท์ (Lyft) ก็นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าผู้ผลิตกำลังขยับไปสู่การบริการ
ผู้กำหนดนโยบายกำลังพูดคุยถึงวิธีการปรับใช้ข้อค้นพบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แนวโน้มของ “ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต” ไม่เพียงแต่กระทบกับวิธีการที่ธุรกิจดำเนินการวางแผนสินค้าเท่านั้น หากแต่ยังกระทบต่อการกำหนดนโยบายอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการลดทอนภาคอุตสาหกรรม (deindustrialization process) ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยที่ผลผลิตและการจ้างงานในภาคการผลิตนั้นมีสัดส่วนที่ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของภาคบริการกลับเติบโตขึ้น
ยกตัวอย่าง กรณีแผนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นล่าสุดที่ประสบกับปัญหาด้านข้อจำกัดของการเพิ่มกำลังการผลิตรวมถึงการส่งออกสินค้าภาคการผลิต และเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าจากการให้บริการแทน ซึ่งได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และเอเปค (APEC) กำลังศึกษาหาวิธีการส่งเสริมและควบคุมบทบาทของการบริการในการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยอีไอซีคาดว่าในอนาคตจะมีการเจรจาเกี่ยวกับการเปิดเสรีในภาคบริการมากขึ้น ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดการประชุมเกี่ยวกับธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ซึ่งนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม
ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การบริการและการผลิตค่อนข้างมีความสัมพันธ์ในเชิงของกระบวนการ โดยในปัจจุบันนั้น เข้าใจกันดีว่าการปรับปรุงด้านการบริการมีส่วนเกื้อหนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับฐานการผลิตและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจซึ่งอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การบริการหลายๆ ด้าน สามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการของห่วงโซ่คุณค่าหรือควบคู่ไปกับการผลิตเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรและรายได้
นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค ตลอดจนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ในเชิงของกระบวนการที่กล่าวมานั้น สะท้อนจากข้อมูลที่ว่าสินค้าส่งออกมีสัดส่วนของกระบวนการบริการที่เข้ามาเกี่ยวข้องประมาณ 30% ยกตัวอย่าง ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการบริการโลจิสติกส์มีราคาสูง ผู้ผลิตอาจจะจัดหาชิ้นส่วนการผลิตและนำไปผลิตในประเทศอื่นแทน แล้วนำกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศ อย่างไรก็ดี หากไม่มีการปรับปรุงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการ บริษัทต่างๆ ในแต่ละประเทศก็อาจจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดระหว่างประเทศได้
ผู้ผลิตไทยมีโอกาสที่จะนำเสนอการบริการที่มากขึ้น แม้ว่าธุรกิจภาคการผลิตในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะนำเข้าการบริการจากประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการที่อีไอซีได้ศึกษารายชื่อของผู้ผลิตไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นกลับพบว่ามีผู้ผลิตบางรายดำเนินการในด้านของการบริการอยู่ด้วย ยกตัวอย่าง บริษัทผลิตยางแห่งหนึ่งที่เริ่มต้นจากร้านขายยางรถยนต์ ซึ่งกระจายสินค้าจากโรงงานไปสู่ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการบริการซ่อมและบำรุงรักษา นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายรายที่ให้บริการด้านการจัดการพลังงานพร้อมๆ กับดำเนินการผลิตเพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ผลิตส่วนใหญ่ในประเทศยังคงให้บริการเพียงระดับพื้นฐาน จึงเป็นโอกาสที่จะคว้าโอกาสในการให้บริการขั้นสูง เช่น การวิจัยและการออกแบบ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงผลิตภาพในการดำเนินงานในแต่ละวัน หรือการรีไซเคิลและรวบรวมของเสีย นอกจากนี้ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยังสามารถครอบคลุมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยกเช่น รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังสามารถขยายไปสู่การบริการเสริมที่เข้ามารองรับ เช่น การให้บริการรถโดยสารร่วมเดินทาง (car-sharing) สถานีชาร์จและการจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว
Implication
อีไอซีแนะผู้เล่นในประเทศมองหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ทั้งนี้ ตัวอย่างของธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตมีหลายรูปแบบ นับตั้งแต่รูปแบบพื้นฐานที่มุ่งเน้นตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภค เช่น การบริการติดตั้ง การบริการทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ไปจนถึงการบริการขั้นสูงที่มุ่งเน้นความต้องการเฉพาะของลูกค้าและการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น การพัฒนาร่วม การประกันคุณภาพวัตถุดิบ การวิเคราะห์ข้อมูล และการให้คำปรึกษาด้านกระบวนการ หรือแม้กระทั่งการดำเนินกระบวนการหรือบริการของคู่แข่ง
ข่าวเด่น