การปลดลูกจ้างเหมาค่าแรงของบริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถชั้นนำของโลก สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว ซึ่งจากการชี้แจงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ระบุว่า จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ บริษัทฯ ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีทางเลือก บริษัทฯ จึงเปิด โครงการ "จากด้วยใจ" ให้แก่พนักงานรับเหมาช่วงเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก ซึ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับเงินชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน และบริษัทฯ ยังพิจารณาจ่ายเงินเพิ่มเติมพิเศษ ให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้ กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะมีการนับอายุงานต่อเนื่อง
ซึ่งกรณีดังกล่าว นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผย ว่ารู้สึกประหลาดใจ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ส่วนสาเหตที่แท้จริงยังไม่รู้รายละเอียดแต่คาดว่า ส่วนหนึ่อาจมีสาเหตุจากนโยบายของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ซึ่งในเรื่องนี้จะมีการหารือภายในสภาอุตสาหกกรรมฯ ถึงภาพรวมของการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย กรณีของค่ายรถยนต์อื่นจะมีปัญหาเลิกจ้างอีกหรือไม่ ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงจะขยายวงกว้างให้เกิดการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมอื่นด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กรณีของโตโยต้าที่เตรียมลดกำลังการผลิตลง ทำให้ต้องติดตามดูว่า จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่เศรษฐกิจดี พอมาในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังการผลิตลดลง จึงต้องลดจำนวนพนักงานลงด้วย
นอกจากนี้อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานเหล่านี้ หรือ ซัพพลายเชนต่างๆ จะโดนผลกระทบด้วยมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งยังต้องติดตามดูผลกระทบทางอ้อมจากภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคบริการในส่วนของร้านค้ารายย่อย หรือหอพักตามโรงงานต่างๆ ที่อาจโดนผลกระทบบ้างในบางจุด แต่เชื่อว่าสถานการณ์เหล่านี้ น่าจะอยู่ในวงจำกัด ไม่ลุกลามจนเกิดเป็นปัญหาว่างงานคล้ายกับปี 2540 โดยสถานการณ์ถ้าจะเกิดขึ้น ก็คงเกิดกับบางอุตสาหกรรมที่เพิ่มกำลังการผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้านี้
ข่าวเด่น