วิทยาศาสตร์
ก.วิทย์ฯ-คลังดันโครงการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดี หักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า หรือ 300%


 


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือกระทรวงการคลัง เปิดช่องทางใหม่ให้เอกชนรับรองโครงการวิจัยด้วยตัวเอง เพื่อใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีได้ 300% ได้สะดวก รวดเร็ว และหนุนการทำวิจัยเพิ่มมากขึ้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบ และรับรองโครงการวิจัยฯ ในรูปแบบ pre-approval ตั้งแต่ปี 2545 โดยผลการดำเนินงานจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558 มีโครงการวิจัยฯที่ยื่นขอรับการรับรองจำนวน 3,236 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,808 ล้านบาท สำหรับช่องทางใหม่ที่เป็นวิธี  Self Declaration ในช่วงที่ผ่านมา สวทช. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมกันจัดทำข้อกำหนดระบบ RDIMS ขึ้น โดยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ระบบ RDIMS ได้เตรียมความพร้อมสำหรับรับการตรวจประเมินระบบและขึ้นทะเบียนฯ โดยมีการลงนามร่วมมือกันระหว่าง สวทช. และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการการรับรองระบบ RDIMS เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิ ยกเว้นภาษีในรูปแบบ Self Declaration ต่อไป
 
 

"ความแตกต่างระหว่างมาตรการนี้กับก่อนหน้านี้คือ บริษัทที่ต้องการทำวิจัยจะต้องเสนอโครงการมาเพื่อให้ตรวจสอบก่อนว่าเป็นการวิจัยจริงหรือไม่ ซึ่งต้องเสนอทีละโครงการ ใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 3-4 เดือน แต่ปัจจุบันบริษัทไม่ต้องรอให้อนุมัติไปทีละโครงการ จะเหลือเวลาในการตรวจสอบน้อยลง  บริษัทที่เคยใช้บริการกับทางเราอยู่แล้วก็ตรวจสอบความถูกต้อง และรับรองด้วยตัวเอง โดยสามารถยื่นในระบบ RDIMS  ส่วนบริษัทใหม่ ต้องยื่นโครงการเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบก่อน จากนั้นจึงจะได้รับการตรวจและรับรองว่ายื่นไปใน Self Declaration และเดิมมี 300 บริษัท 3000 โครงการที่เข้ามาร่วมโครงการกับเราในระบบปกติ  ขณะที่บริษัทใหม่ที่เราเชิญมาทดลองระบบอีก 5 บริษัท ขั้นตอนรับรองระบบวิจัยของบริษัทที่มาทดลองใช้อาจมีระยะเวลา 4-5 เดือน แต่ขึ้นอยู่กับบริษัทเองว่าจะตรวจสอบโครงการจะใช้เวลาดำเนินการเองเท่าไร" ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ใช้ระยะเวลา 2 ปี ในอดีตมีการหักลดหย่อนภาษีเพียง 200% แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป การที่จะจูงใจให้เอกชนมาลงทุนล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ยาก และเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยไปสู่การวิจัยพัฒนาไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP เป็นเงินในการลงทุนในการวิจัยของประเทศ รวมทั้งภาครัฐและเอกชน สถิติของ IMB โดยเฉลี่ย 50 กว่าประเทศ ทุกปีเราเสียค่านำเข้าสินค้าเทคโนโลยีและต้องจ่าย ลิขสิทธิ์ถึงปีละ 160,000 ล้านบาท และหากในอนาคตไทยสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าขึ้นมาเองได้ ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีและค่าลิขสิทธิ์ก็จะลดลง 
 
 

นายวิสุทธิ์  ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเปิดช่องทางใหม่ให้เอกชนใช้สิทธิรับรองตามมาตรการหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ 3 เท่า หรือ 300% จากเดิม 2 เท่า  เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และวว.  ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศมีการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเอกชนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากตามนโยบายนี้กำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าใช่จ่ายเพื่อการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไม่ต่ำกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายในปี 2564 วันที่เริ่มมาตรการภาษีนี้ ( 1 มกราคม 2558 ) มีภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเพิ่มแรงจูงใจสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เพิ่มเป็น 3 เท่า มาตรการนี้เป็นมาตรการแรกที่กระทรวงการคลังให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลงทุนทำวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาหักเป็นรายจ่ายได้มากถึง 3 เท่า เพื่อเป็นช่องทางใหม่ให้เอกชนดำเนินการตามมาตรการนี้ได้อย่างสะดวก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ค. 2559 เวลา : 08:24:55
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 11:53 pm