อีกไม่ถึง 1 เดือน เหตุการณ์ทางการเมืองที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคงหนีไม่พ้น เรื่องการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังเป็นที่สนใจของนานาชาติ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการทำประชามติของประเทศไทยในสายตานานาประเทศว่า การทำประชามติเป็นเรื่องภายในประเทศ ที่แต่ละประเทศต่างมีการทำประชามติกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ จึงไม่มีประเทศใดที่แสดงความกังวลในการทำประชามติของประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องที่ต่างชาติเข้าใจดีอยู่แล้ว ซึ่งการทำประชามติในประเทศไทยนั้นมีเป้าหมายคือ ให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเองต่อร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันออกเสียงประชามติ ทาง กกต.ก็จะเร่งการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ผ่านทุกช่องทาง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการออกมาลงคะแนนเสียงประชามติ ส่วนยอดผู้มาใช้สิทธิออกเสียงครั้งนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ กกต.ตั้งไว้หรือไม่ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ในฐานะ กกต.ก็จะพยายามรณรงค์อย่างเต็มที่
ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมตามจังหวัดต่างๆ ตนก็ได้รับการยืนยันจากประชาชนด้วยว่าจะออกมาใช้สิทธิในวันที่ 7 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน และหลังจากนี้ไป กกต.จะเร่งทยอยจัดส่งจุลสารการออกเสียงประชามติ หรือบุ๊กเล็ต ไปตามครัวเรือนต่างๆ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลต่อการตัดสินใจลงประชามติ ส่วนประชาชนจะออกเสียงทิศทางใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า ผลการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ไม่มีผลที่จะทำให้ประเทศชาติเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ และรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตัวชี้วัด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติตาม แต่หากไม่ผ่านการทำประชามติในครั้งนี้ มองว่าบ้านเมืองยังไม่ถึงขั้นเกิดความวุ่นวาย เพราะยังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูแลความสงบเรียบร้อย
และยังเชื่อว่า ภายหลังการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีการคลายข้อจำกัดทางการเมือง และเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแมป คสช. ในปี 2560 จึงมองว่าการทำประชามติครั้งนี้เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในช่วงการเปลี่ยนผ่าน พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่า ภายหลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้น ซึ่งพรรคการเมืองที่เข้ามาบริหาร จะต้องตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชน ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองต้องพยายามคิดนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ ส่วนตัวเชื่อว่าต้องมีการจับมือกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
ส่วนกรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "นับถอยหลัง 1 เดือน วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 59" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,733 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.7 ตั้งใจว่าจะไปออกเสียงลงประชามติ รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ร้อยละ 10.4 ตั้งใจว่าจะไม่ไป ที่เหลือร้อยละ 11.9 ยังไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ประชาชน ร้อยละ 43.6 ระบุ หากวันนี้เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะที่ร้อยละ 6.6 ระบุ "ไม่เห็นชอบ" ส่วนร้อยละ 13.0 ระบุ "งดออกเสียง" และมีถึงร้อยละ 36.8 ที่ยัง "ไม่แน่ใจ"
ข่าวเด่น