แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทยปรับเป้าส่งออกปีนี้หดตัว 2%


 


วันนี้ (12ก.ค.)  ธนาคารกสิกรไทย จะจัดงานสัมมนา 'ทิศทางค่าเงินไตรมาสที่สามและจับตาสภาวะเศรษฐกิจโลก' เพื่อให้กลุ่มลูกค้าบรรษัทของธนาคารฯ รับฟังข้อมูลสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสสาม ทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยปี 2559

การบรรยายหัวข้อ "ทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยปี 2559"  โดยนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย และน.ส.ณัฏฐริยา วิทยธนเศรษฐ์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

นางสาวณัฏฐริยา  เปิดเผย กรณีของ Brexitว่า ผลกระทบต่อเอเชียอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากการค้าในเอเชียกับอังกฤษลดลงมานานแล้ว แต่ผลกระทบจะมาจากช่องทางการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (FDI) หรือการลงทุนทางการเงินมากกว่า  สิ่งที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ ผลกระทบต่อการส่งออกไปอียูว่าจะมีผลทางอ้อมหรือไม่ 
          
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดการส่งออกไทยหดตัวมากขึ้นจากปัจจัย Brexit แต่ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) จะเติบโตได้ 3% จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการจ้างงานที่มีการเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี 
 

ด้านนายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP)ปีนี้ ยังมองว่ายังขยายตัวได้ 3% โดยแนวโน้มจีดีพีไตรมาส 3/59 คาดว่าจะเติบโตในระดับเกือบ 3% หรือ 3% จากปัจจัยหนุนเรื่องการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว และรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น หลังจากปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังเป็นปัจจัยที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการส่งออกของไทยปีนี้ลดลงเป็นติดลบ 2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0% เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว นอกจากนี้ประเด็นที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกไปยังยุโรป 

ในส่วนของค่าเงินบาท  ในช่วงสิ้นปีนี้ประเมินว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ  36.20 บาทต่อดอลลาร์ จากประมาณการเดิมที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ เป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ  (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ อีกทั้งปัจจัยในประเทศ คือ ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น หากผลออกมารับร่างรัฐธรรมนูญก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% จนถึงสิ้นปี 2560 เนื่องจากรัฐบาลยังต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จากนั้น การ เสวนาหัวข้อ "เกาะติดสถานการณ์ไตรมาสสอง ทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย" โดย ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย     นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยและ  นายกิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหารกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย
 

 
ดร.ยรรยง  กล่าวว่า เชื่อว่า อังกฤษจะโดนผลกระทบจาก Brexit เยอะพอสมควร เงินปอนด์ที่อ่อนค่าจะทำให้ค่าแรงที่จ้างงานลดลง และทำให้คนชะลอการใช้จ่าย  ในปีนี้เเศรษฐกิจของอังกฤษเองจะลดลงค่อนข้างเยอะจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1.8%  และอังกฤษจะลดดอกเบี้ยลงเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง แต่ในของเอเชียเองก็ยังคงเป็นจุดที่น่าสนใจและน่าติดตามสำหรับนักลงทุนเองหรือสำหรับธนาคารเองอีกด้วย

 ด้าน ดร.ศิวัสน์  กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกไปยังอังกฤษติดลบประมาณ -6% ถึง -9% และใน Eu ติดลบเช่นกัน ประมาณ -3% ถึง -4% ส่งผลให้การส่งออกไม่ดีเท่าที่ควร ด้านการนำเข้าติดลบประมาณ -2% จากเดิมที่คาดไว้ก่อนหน้านี้น่าจะประมาณ 0% หรือไม่มีการเติบโต ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจเป็นเพียงระยะสั้นในปีนี้
 

LastUpdate 12/07/2559 20:38:29 โดย : Admin
11-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 11, 2025, 2:10 pm