เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ลดหย่อนภาษีโอท็อปหวังดึง SMEsเข้าระบบภาษี


 


ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติอนุมัติมาตรการภาษีส่งเสริมสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ  โอท็อป  โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าโอท็อป ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. - 31 ส.ค. นี้   ตามจำนวนที่จ่ายจริง  แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท 

ซึ่งนายพรชัย    ฐีระเวช    รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  ระบุว่า  หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าเกณฑ์ดังกล่าว   จะต้องเป็นสินค้าโอท็อป ที่ได้รับการรับรองและลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และเป็นรายจ่ายในการซื้อสินค้าโอท็อป ให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ  ในระหว่างวันที่ 1 ส.ค. - 31 ส.ค. นี้ โดยใบกำกับภาษีต้องระบุรายการว่าเป็นสินค้าโอท็อป
 
  
ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการใช้จ่ายของประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์โอท็อป   และกระจายรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น และชุมชน   ซึ่งเป็นเศรษฐกิจ ระดับฐานรากที่มีห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก    รวมทั้งยังเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีผ่านการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)   ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านค้า โอท็อปทั้งหมด 4 หมื่นราย   แต่จดทะเบียนแวตเพียง 400 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้น
 
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดของผลิตภัณฑ์ OTOP มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงรวมกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี  โดยมีประเภทสินค้าจำนวนกว่า 80,000 รายการ และมีส่วนในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก รวมถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ พันเอกนาฬิกอติภัค    แสงสนิท    ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรืออ.พ.ท.  เห็นว่า มาตรการดังกล่าว    ไม่สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง เพราะร้านค้าชุมชนจำนวนมาก ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ แต่รายได้ที่เกิดกับชุมชนจะเป็นทางอ้อม ด้วยการขายสินค้าได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่นำไปขายตามห้างสรรพสินค้า สนามบิน ร้านค้าชื่อดังมากกว่า     เพราะสินค้าที่จะขายในสถานที่ดังกล่าวได้ จะต้องผ่านมาตรฐานจากหน่วยงานที่ตรวจสอบก่อน      

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าระยะเวลาการลดหย่อนภาษี สั้นไป    ควรสนับสนุนมาตรการนี้ไปจนถึงสิ้นปี    เพื่อขยายโอกาสสร้างรายได้ ช่วยให้เงินในชุมชนหมุนเวียนมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจยังซบเซา    

ขณะที่รัฐบาลคาดว่า  จะมีเงินหมุนเวียน จากมาตรการนี้ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท   และช่วยให้มีการเกิดประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งช่วยเพิ่มการจ้างงานในชุมชนมากขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ค. 2559 เวลา : 07:16:26
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:46 am