สำนักวิจัย ธ. ซีไอเอ็มบี ไทย ฟันธงกนง. คงดอกเบี้ยนโยบายมั่นใจแบงก์ชาติมีกระสุนชนิดอื่นต่อสู้กับสงครามค่าเงินที่กำลังปะทุ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (Dr.Amonthep Chawla, Senior Vice President, Head of Research Office and Regional Group Risk Economist of CIMB THAI Bank) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯฟันธงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 3 ส.ค.59 แม้สงครามค่าเงินในภูมิภาคจะกลับมาปะทุรอบใหม่ จากการที่ล่าสุด ธนาคารกลางมาเลเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยปรับลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 3%
“แม้ประเทศเพื่อนบ้านจะลดดอกเบี้ย แต่กนง.คงไม่ปรับลดตาม เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว กนง.น่าจะเก็บกระสุนหรือ policy space ไว้ใช้ยามจำเป็นหากเกิดวิกฤติในต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด หรือปัญหา Brexit กระทบเศรษฐกิจยุโรป และที่กนง. ห่วงอีกประการคือ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (search-for-yield) ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน และมีการคาดการณ์ว่าจะลดลงต่ออีกแล้ว คนจะโยกเงินออกจากเงินฝากหรือสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำ ไปสู่สินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูง อันอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ผมกล่าวมาราวปีเศษๆ คือไทยใกล้เดินเข้าสู่กับดักสภาพคล่อง คือต่อให้ดอกเบี้ยลดต่ำลง สินเชื่อก็ไม่เติบโต อันสะท้อนว่าประสิทธิผลของดอกเบี้ยต่ำ และอาจส่งผลให้ไทยใกล้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่นๆที่จะเข้ามาสู้ศึกสงครามค่าเงิน อาทิ การออกมาตรการผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม หรือพูดอย่างง่ายว่าใช้ ‘บาทอ่อน’ มากกว่า ‘ลดดอกเบี้ย’ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (หลัง Brexit ค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วงสั้นๆและขยับแข็งค่าขึ้นมา)
อนึ่ง สำนักวิจัยฯออกบทวิเคราะห์ “ทิศทางดอกเบี้ยไทยหลัง Brexit” เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 ซึ่งคาดการณ์ว่าหลังเหตุการณ์ Brexit จะได้เห็นธนาคารกลางบางประเทศเลือกหั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่ธนาคารกลางมาเลเซีย (บีเอ็นเอ็ม) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อยู่ที่ 3% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี จึงไม่สร้างความแปลกประหลาดใจมากนัก
อย่างไรก็ตาม เดือนก.ค.59 เป็นเดือนที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะจะมีการประชุมธนาคารกลางในหลายประเทศ ได้แก่ 14 ก.ค. ธนาคารกลางอังกฤษ, 21 ก.ค. ธนาคารกลางยุโรป, 26-27 ธนาคารกลางสหรัฐ และ 28-29 ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งสำนักวิจัยฯคาดว่าจะมีธนาคารกลางอื่นอีกที่จะลดดอกเบี้ย (ยกเว้นธนาคารกลางสหรัฐที่น่าจะคงดอกเบี้ย) หรือขยายมาตรการ QE และถึงแม้ไม่ทำในรอบนี้ ก็อาจส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินในรอบต่อๆไป
นายอมรเทพ เปิดเผยว่า หลังจากคนอังกฤษออกเสียงเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เกิดภาวะเงินไหลออกจากอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรป ก่อนจะมีกระแสเงินไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง เพราะนักลงทุนคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ จะต้องออกมาตรการมากระตุ้นเพิ่มเติม จากปัญหาความไม่แน่นอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (นักลงทุนมองข่าวร้ายเป็นข่าวดี) มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น การลดดอกเบี้ยหรืออัดฉีดเงิน (QE) เพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สภาพคล่องที่ล้นท่ามกลางภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด และอาจมีปัญหาค่าเงินแข็งค่าจากเงินไหลเข้าอันกระทบการส่งออกให้ย่ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัว จึงอาจได้เห็นธนาคารกลางประเทศอื่นๆเลือกที่จะหั่นอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่อการเติบโตในอัตราที่ชะลอลง จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายในมาจากการบริโภคที่อ่อนแอ จาก 1) ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำตามราคาน้ำมัน 2) ภัยแล้งที่กระทบผลผลิต 3) หนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง และ 4) ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตที่ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งการบริโภคที่ต่ำนี้ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอในระดับฐานราก
ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่มีสัญญาณการเร่งตัว จากการนำเข้าเครื่องจักรยังคงหดตัว กำลังการผลิตยังต่ำ และความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น นอกจากนี้ แม้จะมีมาตรการจูงใจทางภาษีให้คนเร่งลงทุน แต่มูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก FDI ยังต่ำ สิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นได้คือการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีความล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้และมีความชัดเจนมากขึ้นช่วงปลายไตรมาสที่สามถึงปลายปี
นอกจากอุปสงค์ในประเทศจะอ่อนแอแล้ว อุปสงค์ต่างประเทศก็หดตัวด้วย จากการส่งออกที่ติดลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ราคาน้ำมันต่ำ และค่าเงินผันผวน สรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเติบโตช้าลงในช่วงไตรมาสที่สาม
“ที่ต้องจับตาคือ ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เศรษฐกิจชะลอ แต่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจจีนโตช้าลง ได้กดดันบรรยากาศการลงทุน การส่งออก และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แม้เศรษฐกิจในภูมิภาคจะชะลอ แต่หลายประเทศเผชิญปัญหาค่าเงินแข็งค่า ซึ่งเกิดจากเงินไหลเข้าตามสภาพคล่องที่ล้นในตลาดโลก จนยิ่งซ้ำเติมปัญหาการส่งออกให้หนักขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอพร้อมกับค่าเงินที่แข็ง โดยปกติธนาคารกลางจะเลือกดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม นั่นคือการลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะช่วงที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีน้อย จึงมักมีแรงกดดันต่อกนง.เสมอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับผ่อนคลายให้บาทอ่อนค่า แต่ผมก็ยังฟันธงว่ากนง.จะไม่ลดดอกเบี้ย” นายอมรเทพ กล่าว
ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย แนะนำว่า เมื่อสงครามค่าเงินขยับมาใกล้ไทยมากขึ้น ขณะที่ความผันผวนในตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูง เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเงินไหลเข้าจากสภาพคล่องที่ล้นในตลาดโลก และในทางกลับกัน บาทเองอาจอ่อนค่าจากจีนลดค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย สำนักวิจัยฯจึงยังมองบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี และคงประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อปีไว้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจึงควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ธปท. อาจผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้าย หรือมีการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ปัจจัยที่ต้องจับตามอง
กรกฎาคม
-ธนาคารกลางในหลายประเทศสำคัญๆ มีการประชุมกัน (คาดคงดอกเบี้ย)
-เฟดมีแนวโน้มจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยได้หากตัวเลขเศรษฐกิจดี (ตลาดอาจผันผวนหลัง GDP Q2)
-ระวังหาก GDP Q2 ของจีนออกมาต่ำ อาจมีการกระตุ้นทางการเงิน
สิงหาคม
-ไทยคงดอกเบี้ย รอรายงาน GDP Q2
-หลายประเทศมีการรายงานตัวเลข GDP (คาดชะลอลง)
-อาจมีมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (จับตา GDP ญี่ปุ่น)
กันยายน
-รอการประชุมเฟด (คาดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่จะส่งสัญญาณชัดขึ้น)
-นโยบายการเงินทั่วเอเชียหยุดรอเฟด
-คาดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินเริ่มอ่อนปลายเดือน
ข่าวเด่น