เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกไทยในบริบทใหม่ของการค้าโลกชะลอตัว : วิจัยกรุงศรี


 


นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง จากที่เคยขยายตัวได้ในระดับสูงและเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปีนี้การส่งออกอาจหดตัวเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน หลังจากในช่วงห้าเดือนแรก มูลค่าการส่งออกหดตัวถึง 1.9% วิจัยกรุงศรีสรุป 3 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยซบเซาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า 2. โครงสร้างทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. ปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวของไทยจากขีดความสามารถในการแข่งขัน 

นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าที่ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกลดลงแล้ว โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปยังเป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การส่งออกซบเซาทั่วโลก ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากภาคธุรกิจลดการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและเครื่องจักร ขณะที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่ผลิตเองในประเทศแทนสินค้านำเข้า ด้วยเหตุนี้ มูลค่าการค้าโลกจึงไม่ได้เติบโตตามรายได้ของประชากรโลกเหมือนในอดีต จากข้อมูลในปี 2556 ที่การขยายตัวของการค้าโลกอยู่ในอัตราเท่ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงจากที่เคยขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าถึง 2 เท่า ในช่วงปี 2533-42 

ในขณะที่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าไทยตอบสนองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่ามูลค่าการค้าโลก สิ่งดังกล่าวจึงสะท้อนว่า นอกเหนือจากผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าที่กระทบการส่งออกทั่วโลก ไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ทั้งจากการขาดแคลนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ค่าแรงที่สูงขึ้น และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยทุกชนิด ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก วิจัยกรุงศรีใช้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยและแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกในช่วงปี 2554-58 เป็นเกณฑ์แบ่งสินค้าส่งออกไทยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าที่ “แกร่ง”, “พลาด” และ “ยังดิ้นรน”

กลุ่มที่ 1 สินค้าส่งออกที่ ‘แกร่ง’ คิดเป็น 19.9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คือ สินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก และไทยได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น
 
รถยนต์และชิ้นส่วน : ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญ เนื่องจากมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ มี สายการผลิตค่อนข้างสมบูรณ์ และรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน 
 
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง : ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ล้ำหน้ากว่าคู่แข่ง
 
เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเครื่องทำความเย็น (Cooling) : ไทยมีความได้เปรียบจากการมีสายการผลิตที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้สามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตเองได้เกือบทั้งหมด 


กลุ่มที่ 2 สินค้าส่งออกที่ ‘พลาด’ คิดเป็น 14.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สินค้าในกลุ่มนี้กำลังสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดส่งออกที่เติบโตได้ดี เช่น
 
แผงวงจรรวม: ไทยเสียศักยภาพในการแข่งขัน เพราะขาดการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เทคโนโลยีของไทยไม่รองรับการผลิตส่วนประกอบของ smartphone ที่มีแนวโน้มสดใสในตลาดโลก
 
อัญมณีและเครื่องประดับ: ในตลาดเครื่องประดับ คู่แข่งอย่างจีนและอินเดียพัฒนาการผลิตและการออกแบบเครื่องประดับขึ้นมาใกล้เคียงกับไทย นอกจากนี้ ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ในส่วนของเครื่องประดับเงิน ทำให้แข่งขันได้ยาก
 
ข้าว ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาลไทยที่มีมาต่อเนื่องทำให้ต้นทุนของไทยปรับสูงขึ้น ประกอบกับคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาแข่งกับข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยแล้งยังส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และปัญหาด้านคุณภาพที่กดดันให้ราคาส่งออกลดลง 
 
อาหารทะเลแปรรูป ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ และได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในกุ้ง อีกทั้งผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าไทย

กลุ่มที่ 3 สินค้าส่งออกที่ ‘ยังดิ้นรน’ คิดเป็น 27.6% ของมูลค่าการส่งออก ได้แก่ สินค้าที่แนวโน้มความต้องการในตลาดโลกลดลง ทั้งที่ไทยได้และเสียส่วนแบ่งการตลาดไป โดยส่วนแบ่งของสินค้าไทยอาจเพิ่มขึ้นเพราะคู่แข่งรายอื่นออกจากตลาด หรือลดลงเพราะผู้ส่งออกไทยหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมน้ำตาลที่ผู้ประกอบการไทยลดการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ แล้วหันมาส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่มีมูลค่าสูงกว่า รวมทั้งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น น้ำเชื่อม และไซรัป เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกในกลุ่มนี้ยังมีโอกาสปรับตัว เพื่อขึ้นไปแข่งขันในตลาดสินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก จึงยังต้องติดตามและประเมินความสามารถในการแข่งขันต่อไป ทั้งนี้ จะเห็นว่าสินค้าส่งออกที่ “แกร่ง” คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกรวมสูงกว่า และน่าจะพอเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกแทนสินค้าส่งออกที่ “พลาด” ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ ‘ยังดิ้นรน’ อีกกว่า 1 ใน 4 ที่ต้องติดตามการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทำให้ในภาพรวม ปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา

คงต้องยอมรับว่า การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจเปิด ดังนั้น หลายภาคส่วนจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว คำถามที่สำคัญ คือ ‘เราจะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าโลก?’ ไทยควรปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก่อให้เกิดสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาระบบตลาดภายในประเทศให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ

 
 
รายงานโดย วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ค. 2559 เวลา : 13:14:13
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:27 am