การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในอนาคต อาจไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆอย่างที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวว่า การที่สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD )ได้จัดอันดับความสามารถการแข่งขันของไทยในปีนี้อยู่ที่ 28 ตนเห็นว่าคงจะต้องกลับมาทบทวนและหาแนวทางที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งใหม่
จึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน ร่วมกันจัดทำแผนและข้อมูลพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ IMD นำไปพิจารณา โดยยอมรับว่าหากผลยังคงออกมาไม่ดี คงต้องให้ IMD เข้ามารับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายบริหารของกิจการนั้นๆ แต่มั่นใจว่าตลอด 2 ปีที่รัฐบาลปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยถูกหลักสากล จึงมั่นใจว่าปีหน้า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 20-25 อย่างแน่นอน
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงผลการเดินทางเข้าหารือกับนายคลอส ชวาบ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร World Economic Forum (WEF) และหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์
ซึ่งระหว่างการ หารือกับผู้บริหาร WEF ฝ่ายไทยตั้งข้อสังเกตถึงจุดอ่อนในการประเมินจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ WEF ตั้งแต่การเก็บข้อมูลในส่วนที่เป็นข้อมูลที่แท้จริง (Hard Data) ที่ WEF ใช้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ของไทย ต้องมีการปรับปรุงให้ครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัย เพื่อป้องกันความ คลาดเคลื่อนในการประเมินอันดับ เช่น ข้อมูลถนนในประเทศนั้น ข้อมูลของ WEF ไม่รวมถนนในระดับท้องถิ่นเข้าไปด้วย ขณะที่กระบวนการจดทะเบียนธุรกิจที่มีการนับจำนวน พบว่าข้อมูลของ WEF คลาดเคลื่อนไป 20 วัน
นอกจากนี้ การที่ไทยได้พัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยไม่น้อยกว่า 170 ฉบับ ซึ่งหาก WEF ทราบข้อมูลนี้ แล้วนำมาประเมินใหม่ จะทำให้อันดับของไทยดีกว่าที่เป็นอยู่
นางอภิรดียังตั้งข้อสังเกตกับผู้บริหาร WEF ว่า การสำรวจความเห็นของผู้บริหารเพื่อนำมาจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ WEF ที่คิดเป็นน้ำหนัก 70% ของคะแนนรวมนั้นอาจน้อยเกินไป เพราะการ สำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง WEF ให้สถาบันเครือข่ายในประเทศไทย คือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รวบรวมและกลุ่มตัวอย่างยังมีจำกัดเพียง 100 คน/ปี และ WEF ยอมรับว่า คำถามบางส่วนคลุมเครือและเป็นการเก็บแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยได้เสนอให้ WEF ปรับปรุงวิธีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามด้วย เช่น การเก็บข้อมูลแบบการพบเพื่อสัมภาษณ์ (Face to Face Interview) ซึ่งส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ จะประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหารือกับคณะบัญชี จุฬาฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการเก็บข้อมูลต่อไป
ทั้งนี้ การจัดอันดับความสามารถ ในการแข่งขันของ WEF ปี 2558-2559 ซึ่งจัดอันดับ 140 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 32 ตกจากอันดับที่ 31 ในการสำรวจครั้งก่อน
ข่าวเด่น