เครื่องปรับอากาศไดกิ้นถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่หันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดเปิดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าทุกกลุ่ม และเครื่องปรับอากาศก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูง ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจในยุโรปยังมีปัญหา เช่นเดียวกับประเทศจีน ขณะที่ความต้องการเครื่องปรับอากาศของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่เจ้าของแบรนด์ความต้องการก็เริ่มอิ่มตัว จึงทำให้หลายบริษัทต้องเล็งขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอื่นๆ และอาเซียนก็ถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและมีความต้องการมากที่สุด
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว บริษัทแม่ของเครื่องปรับอากาศไดกิ้นที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการออกมาประกาศวิชั่นในการดำเนินธุรกิจเทงบลงทุนในภูมิภาคอาเซียนถึง 15,000 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ในประเทศเวียดนาม และขยายโรงงานในที่ดินเดิมใน จ.ระยอง ประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในประเทศนั้นๆ และการส่งออกสินค้าเข้าไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นายฮิโตชิ ทานากะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า แนงทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้บริษัทแม่จะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และเอเชีย โอเชียเนียมากขึ้น เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวยังมีช่องว่างให้เข้ามาทำตลาดเครื่องปรับอากาศได้อีกมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย ซึ่งในปีงบประมาณ2559 (เม.ย. 2559-มี.ค.2560) บริษัทได้เตรียมงบประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม 10,000 ล้านบาท และการลงทุนขยายโรงงานคอมเพรสเซอร์ที่ จ.ระยอง ประเทศไทย อีกประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต
ในส่วนของการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศเวียดนาม ปัจจัยหลัก คือ ความต้องการเครื่องปรับอากาศในประเทศเวียดนามมีสูงมาก ส่งผลให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศภายในบ้านของไดกิ้น ซึ่งนำเข้ามาจำหน่ายจากประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้บริษัทแม่ตัดสินใจที่จะใช้งบก้อนโตลงทุนขยายธุรกิจสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศเวียดนาม เพื่อลดการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศเต็ม 100% แล้ว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ความคืบหน้าของการก่อสร้างยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม คาดว่าเร็วๆนี้น่าจะได้ข้อสรุปและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศเวียดนามน่าจะแล้วเสร็จพร้อมเดินสายการผลิตสินค้าได้ประมาณปี 2561 โดยในส่วนของกำลังการผลิตที่ได้จะเน้นทำตลาดในประเทศเวียดนามเป็นหลัก เนื่องจากอีก 1-2 ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2561 คาดการณ์ว่าภาพรวมยอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศเวียดนามน่าจะมีความต้องการสูงถึง 1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะมีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 7 แสนเครื่อง
สำหรับการขยายโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ในประเทศไทย บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการรองรับการขยายตัวของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอินเวอร์เตอร์ ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะประหยัดพลังงานได้ดีกว่าเครื่องปรับอากาศทั่วไป ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวคนไทยจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีระบบอินเวอร์เตอร์มากขึ้น เบื้องต้นคาดวาการก่อสร้างโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ที่ จ.ระยอง น่าจะแล้วเสร็จพร้อมเริ่มเดินสายการผลิตได้ประมาณปี 2561
ด้านนายสมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการขยายธรุกิจในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากการถือครองเครื่องปรับอากาศในตลาดต่างจังหวัดมีสัดส่วนเพียง 22-23% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดในกรุงเทพฯที่มีการถือครองอยู่ที่ประมาณ 50% โดยในส่วนของกลยุทธ์ที่บริษัทจะใช้ทำในตลาดต่างจังหวัด คือ การขยายศูนย์บริการไดกิ้นไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จากเดิมมีเพียงในกรุงเทพฯอย่างเดียว เพื่อให้การขาย และการบริการหลังการมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของของการขยายศูนย์บริการไดกิ้นไปในปีนี้ ไดกิ้น มีแผนที่จะขยายศูนย์บริการไปตลาดต่างจังหวัดทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วย ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ หลังจากเน้นจะทยอยขยายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ เพิ่มเติม เช่น นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี ระยอง และราชบุรี ซึ่งแต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 8-10 ล้านบาท และจากแนวทางการขยายศูนย์บริการดังกล่าว ไดกิ้นคาดว่าภายในปี 2561 น่าจะมีศูนย์บริการเปิดครบ 10 สาขาทั่วประเทศ
ส่วนแผนการขยายร้านไดกิ้น โปรช็อปนั้น ไดกิ้น มีแผนที่จะจับมือกับดีลเลอร์ขยายร้านไดกิ้น โปรช็อป ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องปรับอากาศไดกิ้นโดยเฉพาะไปยังจังหวัดต่างๆให้ครบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยภายในปี 2563 คาดว่าจะมีร้านไดกิ้น โปรช็อป เปิดให้บริการไม่ต่ำกว่า 100 สาขา ภายใต้งบลงทุนสาขาละประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งงบลงทุนดังกล่าวจะเป็นการลงทุนของดีลเลอร์ โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจบริษัทจะให้ความความรู้ความเข้าใจกับการเปิดร้านไดกิ้นโปรช็อปมากขึ้น เนื่องจากการเปิดร้านดังกล่าวนอกจากจะมีความสวยงามและทัยสมัยแล้วยังสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่าร้านขายเครื่องปรับอากาศทั่วไป โดยในส่วนของร้านที่เป็นไดกิ้น โปรช็อป จะมียอดขายเติบโตประมาณ 30% ขณะที่ร้านทั่วไปจะมียอดขายเติบโตเพียง 10-15% เท่านั้น
สำหรับแผนการทำตลาดไดกิ้น ยังคงเดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่ที่มีคุณสมบัติอันโดดเด่นและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นแบบเหนือคู่แข่ง เพื่อความเย็นสบายโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านสารทำความเย็น R32 รายแรกในไทยตั้งแต่ปี 2557 กับเครื่องปรับอากาศภายในบ้านทุกรุ่น ซึ่งใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อนและไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้ตลาดเริ่มเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็น R32 และมีผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศหลายรายได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้ สารทำความเย็น R32 ซึ่งมั่นใจได้ในคุณภาพการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R32 ซึ่งมีระบบอินเวอร์เตอร์ที่ใช้คอมเพรสเซอร์ แบบสวิง และระบบควบคุมความชื้นรายเดียวในไทย เช่น รุ่นอูรุซาระ (Urusara 7) ที่มีสารทำความเย็นพิเศษ ประหยัดไฟ และไม่ทำลายโอโซนลดภาวะเรือนกระจก
นอกเหนือจากความเป็นผู้นำในเรื่องของนวัตกรรมแล้ว ไดกิ้น ยังมีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์การออกแบบที่ผสานเทคโนโลยี การันตีด้วยรางวัล “Red Dot Design Award” จากประเทศเยอรมนี ในรุ่นเอกิระ (Ekira) ด้วยดีไซน์เรียบหรูเข้ากับทุกการตกแต่ง มีระบบตาอัจฉริยะ แผ่นกรองอากาศดับกลิ่น ยับยั้งเชื้อโรค กระจายลมเย็นสามมิติ ทำงานเงียบ และเชื่อมต่อด้วย Wifi เพื่อตอบโจทย์ที่พักอาศัยยุคใหม่ ซึ่งจากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวไดกิ้นมั่นใจว่าจะสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 1 ในอนาคตอันใกล้นี้
ส่วนเป้าหมายรายได้สิ้นปีนี้ ไดกิ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท เติบโต 22% จากปี 2558 ที่มีรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในกรุงเทพฯ 60% ต่างจังหวัด 40% และหลังจากบริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจและทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 1 เท่าตัว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ไดกิ้น คาดว่าจะมียอดขายในประเทศไทยที่มาจากตลาดในกรุงเทพฯ ประมาณ 27% และต่างจังหวัด 73%
ข่าวเด่น