ประกัน
'ประกันภัย'ปรับตัวรับฟินเทค


 


การเปลี่ยนผ่านการทำธุรกรรมการเงินจากปัจจุบันไปสู่เทคโนโลยีฟินเทค  หรือ ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology)  เริ่มมีผลต่อธุรกิจประกันภัยให้ต้องปรับตัว  เหมือนกับธุรกิจการเงินอื่น
 
       
นายสุทธิพล  ทวีชัยการ  เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยอมรับว่า   อุตสาหกรรมประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการเงิน คปภ.จึงเตรียมที่จะนำฟินเทคเข้ามาใช้ใน 4 มิติ  ได้แก่   มิติแรก เทคโนโลยีมีความจำเป็น มากขึ้น  แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประกันภัยนั้น มีบริษัทที่มีความแตกต่างกันด้านขนาด  โดยมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ไม่เท่ากัน    โดยเฉพาะบริษัทเล็กจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการลดต้นทุนในการดำเนินงาน

 
 
แม้ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยจะมีการนำฟินเทคเข้ามาใช้ในการทำงานด้านปฏิบัติงานในสำนักงาน เช่น ในกระบวนการเคลมสินไหมทดแทน   การติดตามรถที่ทำประกันภัยรถยนต์   แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก  เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบฟินเทค  มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคา ผลประโยชน์ ของกรมธรรม์ต่างๆ  ขณะที่ไทยมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มคนหน้าใหม่สนใจเข้ามาเป็นโบรกเกอร์ที่จะนำเสนอบริการลูกค้าในรูปของฟินเทค

มิติที่ 2 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันกำกับดูแลอย่างบูรณาการ   เพราะปัจจุบันการเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในหลากหลายช่องทาง เช่น ขายประกันผ่านมือถือ คปภ.จึงลงนามความร่วมมือเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการ ส่งเสริมและกำกับดูแล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและอุตสาหกรรม
ดังนั้นสิ่งที่น่าจะเกิดก่อน คือการขายประกันผ่านดิจิทัล เพราะในที่สุดแล้วไทยจะเข้าสู่ระบบไร้กระดาษ   สำหรับมิติที่ 3 กฎกติกาต่างๆ จะต้องรองรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านประกันภัย โดยเป็นกฎกติกาจะต้องมีลักษณะส่งเสริม ไม่ใช่ออกกฎกติกา เพื่อเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ และมิติที่ 4 การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

ขณะเดียวกัน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ก็ระบุว่า  ธปท.สนับสนุนให้ฟินเทคเกิดขึ้นในไทยโดยอยู่ระหว่างศึกษา กฎระเบียบและแนวทางการกำกับดูแลฟินเทค ในไทย อาทิ แนวทางแบบกระบะทราย หรือ Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างชาตินิยมใช้ เช่น ฟินเทคสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เพื่อให้กลุ่มฟินเทคที่เริ่มต้นหรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่จะเป็นบริษัทใหญ่ ในอนาคตถูกกำกับด้วยกฎหมายตามขนาดธุรกิจที่เติบโตขึ้น   ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางเทคโนโลยีจะมีผลให้ไทยแข่งขันทางธุรกิจทางการเงินในตลาดต่างประเทศได้
 

ส่วนนายกรณ์   จาติกวณิช   อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งชมรมว่า   เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนฟินเทคในประเทศไทยและประชาสัมพันธ์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมฟินเทคในการเป็นเครื่องมือ สนับสนุนตลาดการเงินของประเทศไทย โดยมี เป้าหมาย 4 ด้าน  คือ 1.ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน 2.ให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน 3.ส่งเสริมให้การแข่งขัน ในระบบการเงินโปร่งใสเป็นประโยชน์แก่รายย่อย และเอสเอ็มอี และส่งเสริมผู้ประกอบการทางการเงินให้แข่งขันได้ในระดับโลก

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ค. 2559 เวลา : 12:53:28
22-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 22, 2024, 12:14 am