เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เกาะติดนโยบายกระตุ้นการค้าชายแดน


 


ในที่สุดรัฐบาลก็ประสบผลสำเร็จกับนโยบายสนับสนุนการค้าขายตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน    โดย น.ส.พจนีย์   อรรถโรจน์ภิญโญ   รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เปิดเผยว่า ยอดขอส่งเสริมการลงทุนที่เอกชนขอเข้ามายังสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  เพื่อจะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมไปทั้ง 10 เขต ล่าสุด มีมูลค่ารวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่มียอดขอรับส่งเสริมประมาณ 1,000 ล้านบาท
 
         
แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ที่เศรษฐกิจชายแดนมีการเติบโตสูง เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก    ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เอกชนมีความพร้อมที่จะลงทุน  ส่วนพื้นที่อื่นๆ หากสามารถแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ตัวเลขการลงทุนจะเพิ่มขึ้น   และในวันที่ 27 ก.ค.  สศช.จะประชุม หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   เพื่อสรุปความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกครั้ง   ทั้งนี้ สศช.ตั้งเป้าว่าการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ส่วนการขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจ   ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แบ่งการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน  ส่วนแรก คือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 เขต   ให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตาก สระแก้ว สงขลา หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ตราด กาญจนบุรี เชียงราย และนราธิวาส  โดยวางเป้าหมายการลงทุนในพื้นที่ทั้ง 10 เขตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีนโยบายส่งเสริม 20%
        
และส่วนที่ 2 การพัฒนาพื้น ที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกให้เป็นฐาน   การผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ขยายตัวอย่างมีสมดุล ประสิทธิภาพ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่บน พื้นฐานการมีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับของชุมชน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง สาธารณูปโภค บริการสังคมและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง โดยกำหนดแนวทางในการพัฒนาไว้ 5 ประเด็น   ได้แก่ การเร่งรัดการแก้ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเลเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม และการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาให้แก่ประชาชนในพื้นที่
         
ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์   ยังให้น้ำหนักการพื้นที่ในเขตชายแดนภาคใต้  โดยพล.อ.ประยุทธ์   จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า    แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความยั่งยืน   ทั้ งในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นั้น   ต้องถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทั้งทรัพยากรธรรมชาติ  ยางพารา อาหารฮาลาล และการท่องเที่ยว  ซึ่งทุกอย่างสามารถพัฒนาได้ โดยรัฐบาลจะร่วมส่งเสริมและให้การสนับสนุน  เพื่อให้พื้นที่เกิดการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้   และตามแผนของรัฐบาล คือ ต้องพัฒนาให้ได้ภายใน 5 ปี เพื่อที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน  ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม
 

ส่วนการเจรจาสร้างสันติสุขในพื้นที่กับประเทศมาเลเซีย   ขณะนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้าพูดคุยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง และในเดือนสิงหาคมนี้ จะเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง รวมถึงการเชื่อมโยงทางรถไฟ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ค. 2559 เวลา : 06:41:40
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:34 am