กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand ในระดับภูมิภาค 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต เพื่อเน้นย้ำในจุดยืนของรัฐบาลที่มีความตั้งใจต่อการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น และเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ
โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คุณกานต์ ตระกูลฮุน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ประธานภาคเอกชน กลุ่ม D1 การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ ( Innovation & Productivity ) และ ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมแถลงข่าว ในหัวข้อ “การขับเคลื่อน Startup Thailand & Digital Thailand ภูมิภาคเพื่อสร้างฐานสู่ไทยแลนด์ 4.0”
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทย 4.0 นั้น มีคอนเซ็ปต์ว่า รัฐบาลพยายามจะทำให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องให้ความสนใจและสังคมตอบรับและนำมาใช้ ซึ่ง Starup ที่มีความโดดเด่นจนแสดงให้ต่างประเทศได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยก็จะช่วยผลักดันสู่ Thailand 4.0 ได้อีกทางหนึ่ง และปัจจุบันได้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือในการหาช่องทางในการได้พบกันของ Startup เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หลังจากนั้นก็ช่วยเหลือในการหาช่องทางให้สามารถเผยแพร่ไปสู่ภายนอกได้ และคาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในเรื่องของ Startup ของ CLMV และขยายไปยังสมาคมอาเซียน และทั่วโลก
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กล่าวว่า เป้าหมายของThailand 4.0 คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ โดยนำดิจิตอลที่อยู่รอบตัวมาใช้เพื่อผลักดันให้ไปสู่ยุค 4.0 ให้ได้ ปัจจุบันเทคโนโลยี ส่งเสริมหรือเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในส่วนของภาครัฐมีหน้าที่สร้างกรอบนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงว่า Thailand 4.0 คืออะไร และจะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร
นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานภาคเอกชน กลุ่ม D1 การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ (Innovation and Productivity) กล่าวว่า หน้าที่ของรัฐที่ดีที่สุดคือการพร้อมที่จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนเสมอ และเห็นด้วยที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของดิจิตอล พร้อมทั้งมองว่าคนไทยพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาได้
ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ Startup จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกองทุนหมื่นล้านก็สามารถช่วย Startup ได้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งสัดส่วนของเงินทุน โดยรองนายกฯ ได้อนุมัติให้ 3 ธนาคารใหญ่ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ SME Bank จัดสรรเงินมูลค่า 2,000 ล้านบาท(ต่อธนาคาร) ในอนาคตอาจมีกองทุนอื่นๆเพิ่มเข้ามา และคาดหวังว่าเอกชนจะมีการเพิ่มการลงทุนในส่วนนี้เยอะมากขึ้น
นอกเหนือจากนี้ยังมีกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน รวมถึงหน่วยงาน BOI เป็นต้น ที่มีส่วนช่วยในการทำงาน จึงทำให้ค่อนข้างไม่น่าเป็นห่วง และได้รับการร่วมมือที่ดีของประชารัฐ จึงทำให้การร่วมมือของภาครัฐและเอกชนคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ในด้านงบประมาณการจัดโครงการนี้ขึ้นมีจำนวนไม่มากนัก เพราะได้รับการช่วยเหลือจากภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยเหลือจากธนาคาร โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอยากให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสที่จะแสดงออก
“ ในส่วนของภูมิภาคก็จะเห็นอัตลักษณ์ของภาคนั้นๆ รวมถึงในส่วนของต่างประเทศที่ยังเล็งเห็นความสำคัญของ Startup ของไทยได้ขอเข้าร่วมงานนี้ด้วย ประเทศที่ให้ความสนใจใน Startup ของประเทศ ที่เห็นชัดเจนจะมี อิสราเอล จีน ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อที่จะเข้ามามองหาโอกาสในการลงทุน จึงทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยตอนนี้เป็นที่จับตามองจากต่างประเทศอย่างมาก รวมถึงทางสถานฑูตญี่ปุ่น เริ่มการจัด Pitching ให้ประเทศไทยและญี่ปุ่น ได้มาแสดงถึงความแตกต่าง และความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละประเทศ และจะร่วมมือกันอย่างไรในครั้งถัดไป ในวันศุกร์ ที่ 29 กรกฎาคมนี้ ทางประเทศอิสราเอลเช่นกัน ที่ตอนนี้ผู้ที่ชนะ Startup ของไทยที่มีการจัดประกวดไปที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด จะไปเพื่อศึกษาและเรียนรู้ที่จะนำมาปรับปรุง หรือพัฒนาธุรกิจของตัวเอง และนำความรู้มาเผยแพร่ต่อ Startup อื่นๆอีกด้วย รวมไปถึงประเทศอังกฤษที่ล่าสุดโครงการ Newton Fund สนใจที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วม โดยมีเงินกองทุนเฉพาะกับประเทศไทย มูลค่า 3 ล้านปอนด์ จากปีที่แล้ว 2 ล้านปอนด์ และคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 4 ล้านปอนด์ในปีหน้า เข้ามาร่วมมือหลายๆด้าน เช่น ด้านการวิจัย และเริ่มมีความสนใจที่จะทำ Startup กับไทย ร่วมมือในการเทรนบุคคลเพื่อให้เหมาะสมแก่การเป็นนักวิจัย และยังชื่นชมประเทศไทยด้วยว่า เป็นประเทศที่มีความพร้อม และมีความกระตือรือร้นในการร่วมโครงการด้วย ” ดร.พิเชฐกล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า และงานนี้ทางกระทรวงไอซีที และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันจัด พร้อมทั้งภาคเอกชนด้วย ซึ่งเป็นการต่อยอด Startup Thailand ที่ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งจากบุคคลทั่วไป และบุคคลรุ่นใหม่ในกลุ่ม Startup เอง ในส่วนของกลุ่มการเงินที่เข้ามาสนับสนุนของ Startup วันนี้รัฐบาลได้มีนโยบายที่หลากหลายที่จะช่วยส่งเสริมให้Startup สามารถต่อยอดได้ต่อไปได้ และคิดว่าการขยายโครงการนี้ให้คนต่างจังหวัดได้มีส่วนร่วมนั้นเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน ส่วนการเลือกพื้นที่ในการจัดงานนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวก และความพึงพอใจของกลุ่ม Startup เป็นส่วนใหญ่ เพื่อที่จะให้สบายใจในการมาร่วมงาน และงาน Startup Thailand and Digital Thailand ครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ จัดขึ้นใน 3 จังหวัดที่เป็น Smart City ได้แก่
วันที่ 5-7 สิงหาคม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (CMECC)
วันที่ 26-28 สิงหาคม ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 16-18 กันยายน ณ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า จังหวัดภูเก็ต
ซึ่งแต่ละจังหวัดที่จัดจะมีความแตกต่างกันออกไป และภายในงานจะมีการสัมนา และ Workshop โดยผู้เชี่ยวชาญ และ Keynote Speaker จากกลุ่ม CLMV กิจกรรมพิเศษ เช่น Startup idea Pitching, Thailand Hackathon, Meet the Mentor มีนิทรรศการให้ความรู้ และนำเสนอภาพรวมของ Startup ในประเทศไทย What is Startup?, Government Support, Startup Sector (8 Sector จาก 4-5 บริษัท), Thailland Startup District, Bank, Telco, VC, Universities, Co-Working Space, Startup Hack Startup Pitching
นอกจากนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมพูดคุยเรื่อง การพัฒนา Startup ในภูมิภาค ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (CMECC) และความพิเศษที่สุดของ งาน Startup Thailand and Digital Thailand อยู่ที่การทำ Pitching บนเรือยอร์ช ณ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ และยังถือได้ว่าเป็นการแสดงศักยภาพ และนวัตกรรมในการจัดงาน Startup แก่ต่างประเทศ รวมทั้ง ยังมี Digital Thailand เข้ามาร่วมกันจัดงานครั้งนี้ ที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศที่จะมาเข้าร่วมอีกด้วย
ดร.อุตตม สาวนายน กล่าวสรุปว่า งาน Startup Thailand มีเป้าหมายที่จะวางพื้นฐานของประเทศให้ไปสู่Thailand 4.0 ส่วนของ Digital Thailand เป็นงานที่เปิดตัวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยการใช้ดิจิตอลเป็นหลัก ซึ่งเชื่อมโยงกับ Startup ที่มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนพื้นฐานของประเทศให้ไปสู่ Thailand 4.0 เช่นเดียวกัน
ในส่วนของงาน Digital Thailand จะมีกิจกรรมพิเศษภายในงาน ได้แก่ กิจกรรมและ workshop ต่างๆ, Seminar จาก Keynote Speakers ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้
-Smart City
-Smart Farm
-Digital Workforce
-Smart Tourism
-Digital Government
-E Commerce and Netiquette
“งาน Startup Thailand and Digital Thailand จะนำนโยบาย Digital Thailand ไปสู่ทุกภูมิภาค และจะนำเทคโนโลยีดิจิตอลหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาคการผลิต SMEs การท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างความเข้าใจตั้งแต่เยาวชนอายุน้อย เพื่อให้เห็นภาพการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ว่ายังต้องการพลังของภาคประชาชนร่วมมากขึ้นด้วย ในส่วนของ Gateway นั้นให้ดูได้ที่ดิจิตอลเป็นหลัก โดยเชื่อว่าประเทศไทยได้เปรียบด้านที่ตั้งในการเป็นประตูสู่อาเซียนในหลายๆด้าน รวมถึงด้านดิจิตอล หรือความเชื่อมโยง ทางด้านอินเทอร์เน็ต ที่มีความเร็ว และสะดวกสบาย จึงนำมาโยงเข้ากับ Startup และทำให้ประเทศไทยน่าจับตามองมากขึ้น” ดร.อุตตม กล่าว
ดร.อุตตม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หากภายใน 2 ปี Startup เครือข่ายการวางโครงข่ายหรือยกระดับโครงข่ายพื้นฐานความเร็วสูง โครงข่ายศูนย์ดิจิตอลชุมชน ปัจจุบันมีแล้วประมาณ 2,000 แห่ง และคาดว่าจะขยายเพิ่มอีก 300 แห่งในปีนี้ เพื่อจะให้คนในชุมชนสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กัน มีการสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Smart Farming โดยจะนำความรู้ไปใส่ไว้ แล้วทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ระหว่างชุมชน รวมถึงโครงข่ายศูนย์บ่มเพาะ Digital Startup ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย 5 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง และต่างประเทศ สำหรับ Startup ที่จะใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ จะทำให้คนภายนอกเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการสนับสนุน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีนโยบายที่ชัดเจน และประชาชนมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ ทางด้านกฎหมายที่นำไปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะสนับสนุน Startup ได้แก่ Digital Economy ปัจจุบันอยู่ในวาระที่ 2 คาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะแล้วเสร็จ และจะสามารถช่วยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ รวมถึงการตั้งกองทุนที่จะนำมาสนับสนุนการพัฒนาดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยังสามารถช่วยสนับสนุน Startup โดยมีมูลค่าที่เสนอ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายใน 90 วัน การร่างกฎหมายจะผ่านกระบวนการทุกอย่าง
ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นรายย่อยให้มีความตื่นตัว โดยนโยบายหลักคือการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ โดยสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทางหอการค้าเองได้จัดทำขึ้น และสนับสนุนนโยบายภาครัฐอย่างเต็มที่ เพราะอยากให้ SMEs มีแนวคิด หรือวิธีคิดใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีสู่อาเซียน อยากให้สนใจเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้เห็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง
ข่าวเด่น