นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยถึงความคืบหน้า การดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 รวมถึงความคืบหน้าเรื่องการขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ด้านเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 เงินกองทุนของสถาบันการเงินในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดสรรกำไร ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.50 เทียบกับสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 17.43 ด้านสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ร้อยละ 172.69 สูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 60 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในแต่ละปี จนครบร้อยละ 100 ในปี 2563 ขณะที่เงินฝากและสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ในไตรมาสที่ 1 เติบโตอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.55 และ 3.86 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก
กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 มีจำนวน 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น จากสิ้นไตรมาส 1/2559 จำนวน 1,386.05 ล้านบาท ทั้งนี้ สถาบันได้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี ความมั่นคงสูงตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกัน เป็นต้น เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องรวมทั้งได้รับผลตอบแทนที่ดี
การดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559
สถาบันได้เร่งดำเนินงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562) เพื่อให้บรรลุพันธกิจของสถาบันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 มีการดำเนินงานที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. การแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 26 เมษายน
2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน โดยยกเลิกการกำหนดให้ผู้ฝากเงินมายื่นขอรับเงิน ภายหลังจากที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้เป็นหน้าที่ของสถาบันที่จะต้องจ่ายคืนเงินฝากแก่ ผู้ฝากเงินตามวงเงินคุ้มครองที่กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฝากเงินให้ได้รับเงินคืนเร็วยิ่งขึ้น ขณะนี้ร่างกฎหมายที่ขอแก้ไขอยู่ในขั้นตอน การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. การเร่งรัดการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก เพื่อให้รองรับพันธกิจการจ่ายคืน เงินแก่ผู้ฝาก ซึ่งจะช่วยให้การจ่ายคืนเงินฝากมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว พร้อมทั้งมีการออกแบบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย
3. การสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับจากระบบการคุ้มครองเงินฝาก โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสัมมนา จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน รวมจำนวน 14 ครั้ง และมีผลการประเมินความรู้ความเข้าใจของ ผู้ร่วมกิจกรรมในระดับดีขึ้นไปเฉลี่ยร้อยละ 91.50
4. การเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2559 สถาบันได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันประกันเงินฝากประเทศเกาหลีใต้ และต่ออายุ MOU กับกองทุนปกป้องผู้ฝากเงินสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปัจจุบันสถาบันมีข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกับสถาบันประกันเงินฝาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
5. การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากล โดยมีการศึกษาและเสนอปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก รวมถึงการสร้างกลไกและความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้โครงข่ายความมั่นคงทางการเงิน ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคาร แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 สถาบันจะดำเนินการตามแผนงานที่เหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมดำเนินงานตามพันธกิจที่กฎหมายกำหนดต่อไป
การขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก
“พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2559” ได้ออกประกาศแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เนื่องจากภาครัฐเห็นว่าการขยายเวลาจะมีข้อดีสำหรับประชาชนผู้ฝากเงินได้มีเวลาปรับตัว และวางแผนทางการเงินเพิ่มขึ้น มีเวลาพิจารณาผลิตภัณฑ์การเงินที่จะมาทดแทนเงินฝากที่เหมาะสมกับตน และมีเวลาที่สถาบันจะเพิ่มและขยายความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2559 นี้ วงเงินคุ้มครองเงินฝาก จะอยู่ที่จำนวน 15 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งจะครอบคลุมผู้ฝากที่มีเงินฝากภายในวงเงินคุ้มครองสูงถึงร้อยละ 99.90 ของผู้ฝากทั้งระบบ และจะค่อย ๆ ทยอยปรับจำนวนเงินคุ้มครองไปที่ 10 ล้านบาท 5 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงินโดยวงเงิน 1 ล้านบาทจะเริ่มใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะครอบคลุมผู้ฝากที่มีเงินฝากภายในวงเงินคุ้มครองถึงจำนวนร้อยละ 98.18 ของผู้ฝากทั้งระบบ
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ได้ทางศูนย์บริการข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก โทร.1158 และศึกษาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.dpa.or.th
ข่าวเด่น