เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกส่งสัญญาณฟื้น


 



การส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง  หลังราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวไม่ปรับลดลงอย่างในช่วงที่ผ่านมา  ซึ่งนายสุวิทย์    เมษินทรีย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์   ย้ำว่า  แนวโน้มการส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน    เพราะขณะนี้น้ำมัน ซึ่งเคยเป็นปัจจัยลบได้ทรงตัวอยู่ในระดับที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล     ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มมีทิศทางส่งออกดีขึ้น  เชื่อว่า  จากนี้ไปการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ และยังคงเป้าหมายส่งออกที่ 5% ไว้เป็นเป้าทำงาน รองลงมาประเมินไว้ที่ 2-3%    แต่ที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด คือ บวกหรือติดลบไม่เกิน 1%   เพราะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และเป็นปัจจัยกดดันที่มีความเสี่ยง
 
   
นางมาลี  โชคล้ำเลิศ  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้ปรับแผนผลักดันการส่งออก  โดยได้ประเมินเป็นรายตลาดว่าตลาดไหนมีโอกาส ก็จะเร่งผลักดันสินค้าไทยเข้าไปขาย   โดยตลาดที่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน สินค้าจากจีน ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป  กรมฯก็จะพยายามหาทางผลักดันส่งออกเข้าไปทดแทน  หรือการเร่งผลักดันสินค้าในกลุ่มอาหารทะเล สิ่งทอ และน้ำตาล ที่ได้รับผลดีจากการปรับลดอันดับการค้ามนุษย์มาอยู่ที่ Tier2 Watch List

 
ส่วนมุมมองของภาคเอกชนนายนริศ   สถาผลเดชา   ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มองว่า  การส่งออกของไทยเดือนมิ.ย. น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว   เชื่อว่าหลังจากนี้การส่งออกคงไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม และอาจจะทยอยฟื้นตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับตลาดส่งออกไทยระยะข้างหน้า เชื่อว่าตลาดที่เติบโตได้ยังเป็นกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งประกอบด้วย  กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม    ซึ่งกลุ่มนี้ที่ผ่านมาแม้ภาพรวมจะหดตัวบ้าง  แต่ถ้าตัดเรื่องของน้ำมันกับทองคำออกไป การส่งออกในกลุ่มนี้ยังโตได้ 4-5%

แต่การส่งออกไปกลุ่มซีแอลเอ็มวี   ถือว่ามีความเสี่ยง   เพราะสัดส่วนการส่งออกเทียบกับการนำเข้าของกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 50%    ดังนั้นหากเราไม่หาสินค้าส่งออกใหม่ๆ หรือไม่เปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ที่ส่งไปยังกลุ่มประเทศนี้ การเติบโตคงไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนัก

ขณะที่นายสมประวิณ   มันประเสริฐ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า  ตัวเลขเดือนล่าสุดที่ออกมาถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และถ้าดูในรายละเอียดการส่งออกก็พบว่า    สินค้าหลายตัวเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยลง    จะมีสินค้าบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ดีนัก จึงเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกจากนี้ไปจะค่อยๆ ดีขึ้น

แต่การส่งออกที่เริ่มดีขึ้นก็ยังไม่สามารถวางใจได้   โดยในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ดร.เชาว์  เก่งชน กรรมการผู้จัดการ   ระบุว่า  ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในช่วงครึ่งปีหลัง คือเรื่องการส่งออกที่ทั้งปีคาดว่าจะติดลบที่ 2%   แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน  จะลดลงเพียง  0.1%   ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์   แต่ครึ่งปีหลังมีโอกาสติดลบมากกว่าครึ่งปีแรก  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit  ทำให้การค้าของอังกฤษและยุโรปชะลอตัวลง 
 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ค. 2559 เวลา : 08:50:22
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 9:02 am