ตลาดมีโอกาสปรับฐานจากความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงทางการเมือง รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดลง แนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงบางส่วน และถือเงินสดรอลงทุนรอบใหม่ใน “ญี่ปุ่น”
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลก Rebound ขึ้นหลังเกิด Brexit เนื่องจากความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ที่ดัชนี MSCI Emerging Market ปรับตัวเพิ่มขึ้นมายืนเหนือระดับก่อนเกิด Brexit แล้วถึงเกือบ 7% ตลาดหุ้นไทย (SET index) และสหรัฐฯ (S&P500) ก็ยืนเหนือระดับก่อน Brexit อยู่ราว 5% และ 3% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นยุโรป (STOXX600) ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Brexit ก็กลับมายืนที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนทำประชามติ
เรามองว่าตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานมากขึ้น เนื่องจาก ตลาดมีความคาดหวังสูงต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลัง โดยจากการสำรวจของ Bloomberg ชี้ว่าราว 80% ของนักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยการลดดอกเบี้ยและเพิ่มปริมาณการซื้อสินทรัพย์ในการประชุมวันที่ 29 ก.ค. ส่วนในการประชุมธนาคารกลางอังกฤษในวันที่ 4 ส.ค. นักวิเคราะห์เกือบทั้งหมดคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะประกาศลดดอกเบี้ยลง ความคาดหวังที่สูงต่อมาตรการดังกล่าวทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเมื่อมีการประกาศนโยบายออกมาจริง (Sell on fact)
ส่วนด้านนโยบายการคลังในญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ว่า งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (Supplementary Budget) จะมีขนาดประมาณ 28 ล้านล้านเยน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 20 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ดี งบกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนจะอยู่ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการส่งเสริมการลงทุน (Fiscal Investment and Loan Program: FILP) ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในการลงทุนของภาครัฐ และอาจไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะผิดหวังเมื่อรัฐบาลประกาศรายละเอียดของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุม ครม. วันที่ 2 ส.ค. นี้
นอกจากความคาดหวังต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ตลาดยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เช่น การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยในวันที่ 7 ส.ค. และ การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของอิตาลีในเดือน ต.ค. ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการล้มรัฐบาลและเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง
ประการสุดท้ายได้แก่ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลงตามปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่แนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมัน Rebound ขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงเดือน ก.พ. รวมถึงอุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามผลของฤดูกาลในช่วงไตรมาส 3 การปรับฐานของราคาน้ำมันรอบใหม่อาจส่งผลกดดันต่อการคาดการณ์ผลกำไรในกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นหลายๆ ตลาด
เราคาดว่าตลาดมีโอกาสปรับฐานในระยะสั้นเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา และแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงบางส่วนและถือเงินสดรอลงทุนรอบใหม่ โดยเรายังคงแนะนำให้นักลงทุนกลับมาทยอยลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเมื่อตลาดปรับฐาน เนื่องจากระดับ Valuation ที่ยังคงไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว และค่าเงินเยนที่น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปี หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีเริ่มใกล้เข้ามา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำไรจากการส่งออกสินค้าของบริษัทในญี่ปุ่น
ข่าวเด่น