แม้ว่าจะเลยช่วงหน้าขายมาแล้ว แต่'ตลาดน้ำผลไม้' ก็ยังคงแข่งขันกันรุนแรง เห็นได้จากการออกมาเปิดตัวสินค้าใหม่ และการปรับภาพลักษณ์สินค้า รวมไปถึงการปลุกกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ที่สื่อถึงแหล่งที่มาของน้ำผลไม้ ส่งผลให้ตลาดรวมน้ำผลไม้ปีนี้มีความคึกคัก และน่าจะกระตุ้นให้ภาพรวมตลาดมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านๆมา
ปัจจุบันผู้นำตลาดน้ำผลไม้ระดับกลางและระดับบนมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท มีแบรนด์ทิปโก้เป็นผู้นำตลาด ด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% อันดับ 2 เป็นของแบรนด์มาลี ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่กว่า 20% ใกล้เคียงกับแบรนด์อันดับ 3 และจากการที่แบรนด์อันดับ 2 และอันดับ 3 มีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่างกันมาก ส่งผลให้ปีนี้ทั้ง 2 ค่ายออกมาฟาดฟันกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างเข้มข้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง โดยเฉพาะแบรนด์ดอยคำที่ปีนี้ออกมาประกาศปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของแบรนด์เริ่มตั้งแต่โลโก้ จนถึงบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของสินค้ามีความทันสมัยมากขึ้น
นายสรภัส สุตเธียรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะเน้นไปที่การสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยการปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่เริ่มตั้งแต่ตราสัญลักษณ์สินค้า(โลโก้) รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อให้สินค้าของดอยคำมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย มีความเป็นสากล และมีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น เหมาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บริษัทจะเข้าไปขยายตลาด
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่' ดอยคำ 'จะออกมาปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ ภาพลักษณ์สินค้าของดอยคำ จะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่อายุประมาณ 35 ปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แต่หลังจากปรับเปลี่ยนโลโก้และบรรจุภัณฑ์สินค้า รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการหันมาใช้สื่อออนไลน์ช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการทำกิจกรรมการตลาด ดอยคำ มั่นใจว่าจะสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มลูกค้าที่อายุต่ำกว่า 35 ปีได้อย่างแน่นอน
นอกจากจะให้ความสำคัญในด้านของการปรับโฉมสินค้าแล้ว 'ดอยคำ'ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต ด้วยการวางแผนเตรียมใช้งบ 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตสินค้าแห่งใหม่ ที่ อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์ ในอีก 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งในส่วนของความพิเศษโรงงานแห่งดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่กว่าโรงงานเดิมทั้ง 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตแยมและน้ำดื่มที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หรือโรงงานผลิตน้ำผลไม้ลิ้นจี่และเสาวรสที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย และโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศ ที่ อ.เต่างอย จ.สกลนคร ส่วนจะมีกำลังการผลิตเท่าไหร่ และผลิตสินค้าอะไรบ้างขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินงาน
ในด้านของช่องทางการจำหน่าย ดอยคำ มีแผนที่จะขยายร้าน “ครอบครัวดอยคำ” ในลักษณะแฟรนไชส์เพิ่มเติม เพื่อให้การจำหน่ายสินค้าครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของการเปิดร้านแฟรนไชส์อาจจะมีด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 1. ร้านที่มีทั้งการจำหน่ายสินค้า ควบคู่ไปกับร้านอาหารและกาแฟพื้นที่ขนาด 80 ตร.ม.ขึ้นไป 2. ร้านเน้นจำหน่ายสินค้าของบริษัทและมุมกาแฟขนาดไม่ใหญ่มาก และ3. ร้านจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว ขนาด 50-60 ตารางเมตร ซึ่งเบื้องต้นดอยคำวางเป้าหมายอีก 5 ปีไว้ว่า จะขยายร้านครอบครัวดอยคำให้ครบทุกจังหวัด จากปัจจุบันมีร้านดอยคำจำหน่ายสินค้าอยู่ประมาณ 40 สาขา
นายสรภัส กล่าวต่อว่า ในด้านของแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ บริษัทมีแนวคิดที่จะนำสินค้าดอยคำเข้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันตลาดในประเทศเริ่มมีความแข็งแกร่งมากพอให้ขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกาและญี่ปุ่น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาทางธุรกิจคาดว่าเร็วๆนี้น่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งหลังจากออกมารุกขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดอยคำมั่นใจว่าสิ้นปี 2559 นี้น่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท เติบโต 15% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,480 ล้านบาท
ด้านน้ำผลไม้มาลี ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 2 ในตลาดก็ออกมาทำกิจกรรมกการตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในส่วนของปีนี้จะเน้นไปที่การสร้างการรับรู้ในแบรนด์สินค้า และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ด้วยการสร้างเนื้อเรื่องขึ้น พร้อมกับพูดถึงแหล่งที่มาของน้ำผลไม้ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกดีกับแบรนด์สินค้าของมาลี
น.ส.รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานบริหารปฏิบัติการ บริษัท มาลีกรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผลไม้มาลี กล่าวว่า การทำตลาดน้ำผลไม้นับจากนี้ไป จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะการสร้างเรื่องราว (Story) ให้แบรนด์และสินค้าแบบมีที่มาที่ไป เพื่อให้แบรนด์มีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ซึ่งล่าสุดบริษัทมีการใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญ “The Caring Message” มาลีที่ได้ดูแลกัน ด้วยการเล่าถึงแหล่งเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก่อนที่จะเก็บผลผลิตมาทำเป็นน้ำผลไม้ทั้ง 3 รสชาติ คือ น้ำส้มต้องเป็นส้มที่ปลูกจาก จ.สุโขทัย ถึงจะมีรสชาติดี หรือน้ำสับปะรดนางแล ต้องปลูกจาก จ.เชียงราย เป็นต้น
นอกจากนี้ มาลี ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดอาเซียน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบของการเข้าไปทำธุรกิจ ซึ่งในส่วนของประเทศที่ให้ความสนใจเข้าไปทำตลาด คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีจำนวนประชากรเยอะ โดยรูปแบบของการทำธุรกิจมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเข้าไปร่วมทุนกับกับพันธมิตรในประเทศนั้นๆ หรือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย เบื้องต้นคาดว่าปลายปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป จากปัจจุบัน มาลี มีการส่งออกสินค้าเข้าไปทำตลาดต่างประเทศแล้วประมาณ 25 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศที่เข้าไปทำตลาดจะเน้นไปที่ตลาดน้ำผลไม้มีอัตราการเติบโตสูง โดยหลังจากเดินหน้ารุกทำการตลาดอย่างต่อเนื่องคาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่ 20%
ในส่วนของน้ำผลไม้อย่างทิปโก้ แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นผู้นำในตลาดน้ำผลไม้ และมีส่วนแบ่งการตลาดห่างจากอันดับ 2 และอันดับ 3 ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงเดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่ พร้อมกับทำกิจกรรมการตลาด รวมไปถึงขยายฐานลูกค้าใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ จะเน้นการทำตลาดไปที่น้ำผลไม้พรีเมี่ยม ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาด การประชาสัมพันธ์และโฆษณาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสถึงรสชาติและความสดของน้ำผลไม้ รวมไปถึงการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาด และการเปิดตัวผลิตใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
นายเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผลไม้ภายใต้แบรนด์ ทิปโก้ กล่าวว่า ในฐานะผู้นำตลาดบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายตลาดเป็นหลัก เพราะมองว่าตลาดน้ำผลไม้ยังเล็กอยู่เมื่อเทียบกับประชากรที่มีอยู่ภายในประเทศไทย ดังนั้นบริษัทจึงจะเน้นการทำตลาดในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการทำตลาดในกรุงเทพฯ เนื่องจากตลาดหลักของน้ำผลไม้พรีเมี่ยมจะอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก
ปัจจุบัน ทิปโก้ มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำผลไม้อยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งหลังจากออกมาทำการตลาดเพิ่มขึ้น มั่นใจว่าสิ้นปี 2559 นี้จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นได้เป็นที่น่าพอใจหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1% และมีรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 5,500 ล้านบาท เพราะนอกจากจะขยายธุรกิจตลาดในประเทศแล้ว ทิปโก้ ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดน้ำผลไม้
ข่าวเด่น