หลังจากประกาศตัวว่าจะพัฒนาที่ดินด้วยตัวเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบัน สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโครงการที่อยู่ในความดูแลและบริหารงานด้วยตัวเองหลายโครงการ ประกอบด้วย อาคารสยามกิตติ์ จตุรัสจามจุรี ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน สวนหลวงสแควร์ และอุทยานจุฬา 100 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการด้วยตัวเองอีกหลายโครงการ เริ่มต้นด้วย โครงการโรงแรมในรูปแบบบัดเจ็ดโฮเทล จำนวน 500 ห้อง ซึ่งถือเป็นโครงการส่วนต่อขยายของอาคารสยามกิตติ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารสูง 10 ชั้น โดยในส่วนของการทำโรงแรมจะเป็นการพัฒนาความสูงของอาคารเพิ่มเติมให้มีความสูงไม่ต่ำกว่า 30 ชั้น เบื้องต้นสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯคาดว่าภายในปลายปี 2559 นี้น่าจะพร้อมดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปีการก่อสร้างจึงจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งในส่วนของเชนที่จะเข้ามาบริหารขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
อีกหนึ่งโครงการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬา จะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาเอง คือ การพัฒนาที่ดินโบนันซ่าเดิม เป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งจะประกอบด้วย อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก โดยในส่วนของความสูงอาคารคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 30 ชั้นเช่นกัน เนื่องจากผังเมืองอนุญาตให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงได้ในระดับดังกล่าว ส่วนพื้นที่ค้าปลีกและอาคารสำนักงานจะใช้กี่ชั้นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ
อย่างไรก็ดี จากจำนวนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีอยู่มากถึงเกือบ 400 ไร่ ส่งผลให้ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ มีแผนที่จะทำมาสเตอร์แพลนพัฒนาที่ดินระยะยาว 100 ปี เพื่อต้อนรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอีก 100 ปีนับจากนี้ แต่ก่อนที่จะถึงเวลาดังกล่าว การทำมาสเตอร์แพลนครั้งนี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ มีแผนที่จะร่างแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จก่อนวันสถาปนาครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 มี.ค.2560
นายบุญส่ง ศรีสว่างเนตร ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาสเตอร์แพลน 100 ปี จะแบ่งการวางแผนออกเป็น 2 ส่วน เนื่องจากที่ดินของจุฬาฯ มีอยู่ 2 ฝั่งถนน โดยในส่วนของเฟสแรกจะเริ่มทำมาสเตอร์แพลนบนที่ดิน 300 ไร่ ในฝั่งสนามหลวง-สามย่านก่อน เนื่องจากที่ดินผืนดังกล่าวเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งเบื้องต้นมีแผนที่จะพัฒนาที่ดินผืนดังกล่าวเป็นเมืองต้นแบบของการใช้ชีวิตที่มีความสมบูรณ์แบบในรูปแบบสมาร์ทซิตี้ มีบริการหลายๆ แบบครบวงจร เพื่อให้การบริหารที่ดินของจุฬาฯ นับจากนี้ไม่เป็นรูปแบบบล็อคใครบล็อคมันเหมือนที่ผ่านมา
ล่าสุด สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดประมูลที่ดินประมาณ 15 ไร่ ของหัวมุมถนนเจริญผล เพื่อหาผู้ประกอบการมาพัฒนาพื้นที่ในระยะสั้นสัญญา 7 ปี ซึ่งปัจจุบันที่ดินผืนดังกล่าวมีรูปแบบโครงสร้างเป็นห้องแถวมีประมาณ 180 คูหา และเนื่องจากต้องการคงสภาพห้องแถวไว้ จึงอยากให้ภาคเอกชนที่มีความสนใจจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ดำเนินงานภายใต้คอนเซ็ปต์ที่วางไว้ คือ ไบค์ แอนด์ รัน ซึ่งจะสอดคล้องกับมาสเตอร์แพลนที่กำลังร่าง โดยเบื้องต้นขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมยื่นซองประมูลเช่าที่ดินแล้ว 2 ราย คาดว่าก่อนถึงวันที่ 31 ส.ค.ที่จะถึงนี้น่าจะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมยื่นซองประมูลเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปร่วมประมูลพัฒนาที่ดินผืนใหม่ล่าสุด ก็ได้มีการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาที่ดินแล้วหลายแปลงด้วยกัน เริ่มจากกลุ่มทีซีซี ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ได้รับสิทธิ์เข้ามาบริหารที่ดินจำนวน 14 ไร่บริเวณสามย่านเป็นโครงการมิดทาวน์ ซึ่งจะเป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก และศูนย์การเรียนรู้ จำนวน 2 อาคารสูง 30-35 ชั้น
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของบริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ จำกัด ที่เข้ามาพัฒนาศูนย์แอมพาร์ค บนที่ดินอยู่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งในส่วนของโครงการดังกล่าวจะเป็นอาคารสูง 5 ชั้น รวมพื้นที่กว่า 20,000 ตร.ม. แบ่งเป็น 1. โซนคอมมูนิตีมอลล์ ร้านอาหารและร้านค้า พื้นที่ 35-170 ตร.ม. จำนวน 30 ร้านค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ 220 ตร.ม. จำนวน 1 ร้านค้า , ธุรกิจบริการ และร้านอาหารต่างๆ
สำหรับโครงการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้พัฒนาเองในฝั่งสนามหลวง-สามย่าน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น อุทยานจุฬาฯ 100 ปี จะตั้งอยู่บริเวณจุฬาฯซอย 9 จรดถนนบรรทัดทองรวมที่ดินประมาณ 30 ไร่ ซึ่งก่อสร้างภายใต้แนวคิดสืบสานความสง่างาม สอดประสานองค์ความรู้ สรรสร้างสู่ความยั่งยืน เพื่อให้เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ เชื่อมต่อแนวแกนสีเขียว ตามแผนแม่บทของมหาวิทยาลัย ซึ่งในส่วนของพื้นที่ภายในอุทยานจะมีการปลูกพืชพรรณพื้นถิ่นหลากหลายชนิดด้วยแนวคิดป่าในเมือง มีอาคารอเนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการและกิจกรรม พร้อมพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วยห้องเรียนรูปแบบต่างๆ พื้นที่ชุมน้ำประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศน์และนันทนาการ จัดสร้างสวนซึมน้ำ และพื้นที่แก้มลิงบริเวณทางเข้าอุทยาน
ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนจุฬาฯซอย 5 ตลอดแนวตั้งแต่ถนนพระราม 4 จรดถนนพระราม 1 ให้เป็นถนนสีเขียว พร้อมปรับความกว้างถนน 30 เมตร รวมพื้นที่ถนนดังกล่าวอีก 21 ไร่ ส่วนโครงการสวนหลวงสแควร์ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่และทัศนียภาพบริเวณจุฬาฯ ซอย 5 เช่นกัน ซึ่งเดิมเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น จำหน่ายอะไหล่รถ มือสอง หรือย่าน“เชียงกง” ถูกออกแบบโดยผสมผสานระหว่างที่พักอาศัยและแหล่งค้าปลีก ภายใต้แนวคิด “แหล่งรวมความอร่อย และความสุข ของชีวิต เป็นต้นแบบของย่านการค้าชุมชน” บนที่ดิน 10 ไร่ รวมร้านค้าทั้งหมด 170 คูหา แบ่งเป็นโซน ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึก สถานบริการความงาม ร้านแฟชั่น และร้านประดับยนต์ เป็นต้น
ในส่วนของมาสเตอร์แพลนที่ดินฝั่งสยามที่มีเกือบ 100 ไร่ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเริ่มวางหลังจากวางแผนฝั่งสนามหลวง-สามย่านแล้วเสร็จ แต่ถึงแม้ว่ามาสเตอร์แพลนฝั่งสยามจะยังไม่แล้วเสร็จ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีแผนที่จะดำเนินการปรับปรุงศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน หลังจากเปิดให้บริการมา 3 ปีแล้วพบจุดบกพร่องหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นจุดอับ การขึ้นลงของบันไดเลื่อน หรือการหมุนเวียนของอากาศภายในศูนย์การค้า รวมไปถึงการสร้างหลังคาบริเวณพื้นที่โอเพ่นแอร์ เพื่อรองรับหน้าฝน เพราะปัญหาดังกล่าวทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ามาใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแคมเปญต่างๆ ตลอดช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ เช่น แคมเปญ DINING @ Siam Square กับงาน Food Square @ Siam Square One อิ่มมื้อนี้ให้มากกว่า แคมเปญ Beauty Fairs @ Siam Square จัดโปรโมชั่นลดสูงสุด 50% กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม แคมเปญ Siam Denim ด้วยการจับมือกับผู้ประกอบการยีนส์ชื่อดังมาร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย แคมเปญ Siam Square Spectacular Year End กับกิจกรรมสนุกสนานเอาใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และการจัดงาน Siam World Competition 2016 ซึ่งจะเป็นการแสดงตามท้องถนนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหลังจากจัดกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าจะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 15-20%
ข่าวเด่น