กระทรวงวิทย์ฯ จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2559 ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2559 หวังเป็นช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 โดยจัดขึ้นระหว่าง 18-28 สิงหาคม 2559 เวลา 9.00 น. - 19.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็คเมืองทองธานี
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" รวมทั้งเพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในโอกาสที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ตั้งให้ปีนี้เป็น "ปีสากลแห่งถั่วพัลส์ หรือ 2016 International year of PULSES" ด้วย
ปีนี้งานจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” ซึ่งจะรวมนิทรรศการการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ของอาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
.jpg)
"รูปแบบของกิจกรรมมีความคล้ายกับเทศกาลวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศ โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งมีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น เรียน รู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้กรอบแนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม"ร่วมกับ 9 กระทรวง 18 สถาบันศึกษา และประเทศเข้าร่วมอีก 6 ประเทศ มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศมากกว่า 10 หน่วยงานเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าและเทคโนโลยี ได้แก่ ญี่ปุ่น (8หน่วยงาน) สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ออสเตรเลีย และเวียดนาม" ดร.พิเชฐกล่าว
.jpg)
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ภายในงานมีการจัดกิจกรรม และนิทรรศการ มากมาย อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ(Royal Pavilion) แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ในส่วนของการจัดนิทรรศการกลาง มีดังนี้
-นิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง (Future Vehicles & Logistics Pavilion) ที่จะพบกับยานยนต์สมัยใหม่ที่มีระบบการทำงานประสิทธิภาพสูง ที่มีทั้งความปลอดภัยและกำลังส่งที่สูงขึ้น รวมทั้งยังสามารถขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากได้ เช่น รถโฟมสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคต รถตุ๊กตุ๊กพลังแสงอาทิตย์ เป็นต้น
-นิทรรศการเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อการแพทย์และสุขภาพ (Digital Medicine and Health Pavilion) พบกับไฮไลต์ "หุ่นยนต์ดินสอมินิ" เป็นหุ่นยนต์บริการ และดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเด็กผู้ชาย วัยประมาณ 10 ปี เปรียบเสมือนลูกหลานของผู้สูงอายุนั่นเอง
-นิทรรศการวิกฤตภูมิอากาศ วิกฤตชีวิต (Climate Change & Biodiversity Pavilion) โดยมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง "The Last Day" ในรูปแบบ 4D Simulator กับเทคนิคที่ทำให้เหมือนสัมผัสกับเหตุการณ์จริง
-นิทรรศการอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพโลก(World Biotechnology) พบกับแมลงชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ มดทหารเทพา ตั๊กแตนคูหารัตน์ และผีเสื้อรัตติสิริน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อให้
-นิทรรศการอยู่กับยุง (Living with Mosquitos Pavilion) ที่จะแสดงถึงวิวัฒนาการของยุง รวมถึงวิธีป้องกันยุงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
-นิทรรศการมหัศจรรย์แห่งวิทยาศาสตร์ ตอน มหัศจรรย์แห่งไข่ (Miracle of Science: Eggibition Pavilion) พบกับความหลากหลายของไข่ พร้อมทั้งพบกับ "ฟอสซิลไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย" เป็นไข่จำพวกตระกูลกิ้งก่า ที่มีอายุมากกว่า 130 ล้านปี
-นิทรรศการจากนักประดิษฐ์สู่นวัตกรรม (Enjoy Makerspace Pavilion) ที่ได้นำเอาแนวทาง STEM Education มาต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับวทน. พร้อมชมการสาธิต 3D Printing 3D Stereoscopic Print Pen หรือเครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องจักรที่ใช้กระบวนการเติมเนื้อวัสดุ เพื่อทำให้ความคิดหรือจินตนาการ เกิดเป็นรูปร่างที่สามารถจับต้องได้ตามที่ต้องการ นิทรรศการเมืองแห่งถั่ว (Pulse City) และนิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotic and Automation Systems Pavilion)
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ทางภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย สมาคม และสถาบันการศึกษา ได้จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานความก้าวหน้าด้านการวิจัย นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการโชว์ผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น
"ในส่วนของกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในแนวทางสะเต็มศึกษา จะมี กิจกรรมห้องทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับครอบครัวและเยาวชน กิจกรรมลานประกวดแข่งขัน เครื่องบินกระดาษพับ กิจกรรมลานปลูกฝังปัญญาเยาว์ สำหรับพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของเด็กก่อนวัยเรียนในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ การแสดงวิทยาศาสตร์
.jpg)
รวมถึง การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชน การแข่งขัน Young Maker Contest รวมทั้งการแข่งขันตอบปัญหา พร้อมทั้งยังมีการประชุม สัมมนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี ประกอบด้วยการประชุมระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ของประเทศและภูมิภาค เช่น การประชุมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคอาเชียน ASEAN +3 for Gifted in Science การบรรยายเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การนำเสนอเทคโนโลยีทันสมัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการประกอบอาชีพสำหรับชุมชน เป็นต้น"รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าวเพิ่มเติม
.jpg)
.jpg)
ทางด้าน นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อพวช. ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันวิทยาศาตร์แห่งชาติขึ้นเช่นกัน เป็นประจำทุกๆปี และปีนี้กำหนดจัด งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2559 ขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2559 ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี ซึ่งขณะนี้มีการจองเข้าชมนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษที่อพวช.จัดขึ้นมีมากกว่า 5 หมื่นคน (เฉพาะนักเรียน/นักศึกษา) และได้เตรียมมาตรการในการต้อนรับ อำนวยความสะดวก และการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ผู้เข้าชมงาน
"นอกจากนิทรรศการ และกิจกรรมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ยังจะได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมที่ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) สนับสนุนกิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ส่งเสริมด้านนโยบายของรัฐบาล พร้อมกับสนุกสนานกับการทดลองที่จัดขึ้นพิเศษอีกด้วย"นายสาครกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค ร่วมกับ 33 สถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยกำหนดจัดงานพร้อมกันระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2559 ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี ทสู่วิถีแห่งนวัตกรรม" กิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปี 2559 ประกอบด้วย
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ส่วนภูมิภาค ร่วมกับ 33 สถาบันศึกษาทั่วประเทศ
กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 150 หน่วยงาน
สำหรับ กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน มี 6ศูนย์ภูมิภาคเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรม ได้แก่
-ศูนย์ภาคเหนือตอนบน จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้
-ศูนย์ภาคเหนือตอนล่าง จัดโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร
-ศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
-ศูนย์ภาคตะวันออก จัดโดยมหาวิทยาลัยบูรพา
-ศูนย์ภาคใต้ จัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ
-ศูนย์ภาคกลาง จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ข่าวเด่น