ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ไตรมาส 2/2559 ภาพรวมปรับตัวลดลง จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง ยกเว้นความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคใต้ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 2/2559 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,262 กิจการทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ธนาคารทหารไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับลดลงอยู่ที่ 39.4 จาก 42.1 ในไตรมาสก่อน
“เนื่องจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกังวลภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงชะลอตัว และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งยังส่งผลกระทบกับรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของผู้ประกอบการ SME ในส่วนภูมิภาค” นายเบญจรงค์กล่าว
หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME เป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งกระทบกับผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ลดลง ด้านพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นมีทิศทางลดลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อยถึงทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากภาวะกำลังซื้อที่ชะลอลง สำหรับภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นไตรมาสที่ 5 สวนทางกับภูมิภาคอื่น เนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว ซึ่งเป็นรายได้หลักของพื้นที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดี แม้จะเริ่มเข้าสู่ช่วง Low season แล้ว
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 53.5 ลดลงจากระดับ 54.7 เนื่องจากผู้ผู้ประกอบการ SME กังวลเรื่องรายได้และการควบคุมต้นทุนของธุรกิจเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศขาดปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการ SME ทุกภูมิภาคกังวลมากเป็นอันดับที่ 1 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการแข่งขัน ส่วนอันดับที่ 2 จะแตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังกังวลกับปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก และตามมาด้วยความกังวลด้านสภาพคล่องของธุรกิจตึงตัว เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังหดตัวเพราะภัยแล้ง การท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง Low Season และประมงบางพื้นที่ของภาคกลาง (จ.สมุทรสาคร) ได้รับผลกระทบจาก TIP และ IUU สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึง ภาคตะวันออก มีความกังวลรองลงมาในด้านสภาพคล่องตึงตัวและปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ตามลำดับ
“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวต่อไปในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากกำลังซื้อในภาพรวมของประเทศยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ราคาสินค้าเกษตรแม้จะปรับตัวขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปริมาณผลผลิตยังไม่กลับคืนสู่ระดับปกติ มีเพียงปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ และภาคท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองยังมิใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ด้วยเพราะยังมีความเสี่ยงรุมล้อมรอบด้านทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ” นายเบญจรงค์สรุป
ข่าวเด่น