ประเทศไทยมีคะแนนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสูงขึ้น ด้วยคะแนน 66 จากคะแนนเต็มร้อย เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2556 ที่เคยทำได้ 61 คะแนน ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 จากการสำรวจดัชนี เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์ ประจำปี 2559 ( 2016 Healthy Living Index Survey) กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากรวัยทำงานกว่า 10,000 คน จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
แท้จริงแล้วคนไทยยังไม่พอใจสุขภาพของตนเอง
ดัชนีเฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์ ของเอไอเอเป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งในการวัดค่าความพอใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับสุขภาพ และพฤติกรรมหลายๆ อย่างของพวกเขา
76% ของประชากรวัยทำงานในประเทศไทยรู้สึกว่าสุขภาพของตนเองไม่ดีเท่ากับเมื่อ 5 ปีก่อน ในจำนวนนี้รวมไปถึง 70% ของประชากรวัยทำงานอายุน้อยกว่า 30 ปีที่ควรจะอยู่ในช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต
ทั้งนี้ คนไทยที่อยู่ในวัยทำงานตระหนักเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีว่ามีอยู่หลายแง่มุม ทั้งที่เป็นองค์ประกอบด้านกายภาพอย่างการนอนหลับที่เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไปจนถึงปัจจัยด้านจิตใจ ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และการรู้จักวิธีจัดการกับความเครียด ตลอดจนถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งถือเป็นปัจจัยสูงสุด 5 ประการของการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี แต่สำหรับในประเทศไทย การออกกำลังกายไม่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของสิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ผลจากการประเมินตนเองเกี่ยวกับปัจจัยผลักดันการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจรู้ว่าพวกเขาสามารถปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
แม้ว่าคะแนนจะขยับไปอยู่อันดับที่สูงขึ้นแต่คนไทยยังคงนอนน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
คนไทยที่อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่ ทราบว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อสุขภาพ ขณะที่ในแต่ละคืนคนไทยต้องการนอนหลับให้ได้ 7.7 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขานอนหลับเฉลี่ยเพียง 6.3 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น โดยมีส่วนต่างที่ติดลบอยู่ 1.4 ชั่วโมง และเมื่อเทียบกับประเทศๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว คนไทยยังคงมีอัตราการนอนที่น้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค และการนอนหลับเฉลี่ยเพียง 6.3 ชั่วโมงต่อคืน ยังถือว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจทั้ง 15 ประเทศทั่วเอเชีย
เมื่อถามถึงเรื่องการออกกำลังกาย 77% ของประชากรวัยทำงานในประเทศไทยบอกว่าพวกเขาออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี 2554 และ 73% ในปี 2556 ตามลำดับ นอกจากนั้น ระยะเวลาเฉลี่ยในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ยังเพิ่มขึ้นจาก 2.7 ชั่วโมงจากปี 2556 เป็น 3.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปัจจุบัน
โดยเฉลี่ยแล้วความพยายามในการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพให้มากขึ้นทั่วภูมิภาคมักจำกัดอยู่ที่พฤติกรรมพื้นฐานอย่างการดื่มน้ำให้มากขึ้น และบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ประชากรไทยวัยทำงานจำนวนมากกว่า (เทียบกับจำนวนเฉลี่ยในระดับภูมิภาค) พยายามปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะสุขภาพในหลากหลายวิธี อาทิ การลดปริมาณน้ำตาล ลดการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน รับประทานของขบเคี้ยวที่ไม่ดีต่อสุขภาพให้น้อยลง และรับประทานในปริมาณน้อยลงในแต่ละมื้อ
ขณะเดียวกัน ยังมีประชากรไทยอีกจำนวนมากที่ยอมรับว่ามีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานขณะทำกิจกรรมอื่นๆ (90%) รับประทานของขบเคี้ยวที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (89%) รับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มขณะเดินทาง (84%) และรับประทานอาหารเย็นใกล้เวลานอน (82%) ทั้งนี้ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดน้ำหนักได้หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่¬¬านี้
นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพว่ามีราคาแพงกว่า (89%) มีรสชาติไม่อร่อย (76%) เนื้ออาหารมีความแข็งมากกว่า (71%) ใช้เวลาเตรียมมากกว่า (67%) ซึ่งจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ประชากรไทยควรศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารสุขภาพ รวมถึงส่วนประกอบในอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ประชากรวัยทำงาน 62% ต้องการลดน้ำหนัก โดยเฉลี่ย 7.1 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แม้ว่าจะต้องปรับเวลาในการออกกำลังกายและพยายามรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นก็ตาม
42% ของประชากรวัยทำงานในประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน หรือเป็นโรคอ้วนแล้ววัดจากอัตราค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) แต่มีจำนวนถึง 62% ของประชากรต้องการลดน้ำหนัก หรือแม้แต่ 53% ของประชากรวัยทำงานที่มีค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายปกติก็ต้องการลดน้ำหนักเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากความต้องการในแง่ความสวยความงาม
โรคติดอินเทอร์เน็ตยังคงคุกคามต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีในปัจจุบัน
โดยเฉลี่ยประชากรวัยทำงานที่ท่องโลกออนไลน์ใช้เวลา 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตไปกับเรื่องที่ไม่ใช่เพื่อการทำงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค คนไทยส่วนใหญ่ทราบดีว่าสิ่งนี้มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ทำให้มีเวลาออกกำลังกายน้อยลง (83%) มีเวลาพักผ่อนนอนหลับน้อยลง (81%) และไม่ดีต่อสรีระร่างกาย (81%) โดยแม้จะรับรู้ถึงเหตุผลเหล่านี้แต่การเปลี่ยนแปลงอาจจะยาก โดยคนวัยทำงาน 75% ยอมรับว่าเสพติดกับการท่องโลกออนไลน์ ซึ่งสูงกว่าในภูมิภาคเฉลี่ยที่ 57% อีกทั้งการมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นของตนเองยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นดูเหมือนว่าการเสพติดอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ความวิตกกังวลเป็นภัยคุกคามสุขภาพอันดับ 1 ในประเทศไทย
ขณะที่ระดับความเครียดในประเทศไทยอยู่ระดับปานกลาง (ระดับคะแนนประเมินตนเองอยู่ที่ 6.2 จาก 10) เท่ากับอัตราเฉลี่ยในภูมิภาค แต่โดยทั่วไปแล้วคนไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพอยู่มาก เป็นที่น่าสังเกตว่าความวิตกกังวลโดยเฉลี่ยติดอันดับสูงสุด (66%) ซึ่งคนวัยทำงานจำนวนมากที่เผยว่า ตนมีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะด้านจิตใจ เช่น อัลไซเมอร์/โรคชราภาพ (60%) ความหดหู่ (56%) นอกเหนือจากนั้น ยังมีความกังวลเกี่ยวกับโรคหัวใจ (65%) โรคมะเร็ง (63%) และโรคอ้วน (63%)
เป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยถึง 57% ตรวจสุขภาพของตนเองในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่มีเพียง 52% และเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2556 ที่มีอยู่ที่ 54% อย่างไรก็ตาม จากการที่มีความกังวลด้านสุขภาพอยู่ในระดับสูง ทำให้ยังมีโอกาสปรับปรุงในเรื่องนี้อยู่
สิ่งที่เป็นเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับคนรุ่นหลังในประเทศไทย
ผู้ปกครองส่วนใหญ่กล่าวว่าลูกๆ ของตนเองออกกำลังกายไม่พอ (72%) พักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ (60%) และเห็นว่าใช้เวลามากเกินไปในการท่องโลกออนไลน์ เล่นวิดีโอเกม ดูโทรทัศน์ และทำการบ้านมากเกินไป คือสาเหตุของปัญหา นอกจากนั้น 30% ของพ่อแม่ต้องการให้ลูกๆ ของตนเองลดน้ำหนัก ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคที่มีอยู่ 16%
เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับสุขภาพของเยาวชนไทย หากผู้ปกครองและโรงเรียนไม่มีความเห็นสอดคล้องกันในด้านการส่งเสริมการออกกำลังกายและเคร่งครัดเรื่องการใช้เวลา
คนไทยวัยทำงานกระตือรือร้นปรับปรุงพฤติกรรมด้านสุขภาพ แต่ยังต้องการการกระตุ้นเพื่อให้ทำได้มากขึ้น
93% ของประชากรวัยทำงานของไทยกล่าวว่า พวกเขาสามารถทำได้มากขึ้นอย่างแน่นอนเพื่อปรับปรุงสุขภาพของตนเอง และ 85% กล่าวว่าพวกเขาได้เริ่มปฏิวัติตนเองไปในทิศทางนั้นแล้ว
แล้วอะไรจะสามารถกระตุ้นพวกเขาและสนับสนุนพฤติกรรมการมีสุขภาพดีล่ะ การเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น รู้สึกว่าร่างกายดีขึ้น (91%) จิตใจดีขึ้น (90%) รู้สึกว่าสรีระดีขึ้น (91%) และดูดีขึ้น (90%) จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาทำมากขึ้น นอกจากนั้นยังให้ความเห็นถึงแรงจูงใจที่จะช่วยกระตุ้นในการปรับพฤติกรรมด้วยว่า การช่วยเหลือให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้น (89%) การตั้งเป้าเล็กๆ แต่ได้ผลมากกว่า (87%) การให้รางวัลเมื่อทำได้ตามเป้าหมาย (83%) และการปรับตามความก้าวหน้า (82%) ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญ
ทั้งนี้ นายซาลูน ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ประชากรไทยที่อยู่ในวัยทำงานทราบดีว่าพวกเขาสามารถทำให้ตนเองมีสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม หรือสามารถลดน้ำหนักตามที่ต้องการได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงมือทำ ดังนั้นเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนไทยเริ่มลงมือปรับพฤติกรรม เพื่อให้มีสุขภาพดี เราจึงมีการเปิดตัวโครงการ “เอไอเอ ไวทัลลิตี้” (AIA Vitality) ซึ่งเป็นโปรแกรมสุขภาพที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ในรูปแบบที่สนุกสนาน และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล ยิ่งคุณมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้ตนเองมีสุขภาพดีมากเท่าใด คุณก็จะได้รางวัลจากพันธมิตรอันหลากหลายของโปรแกรม ทั้งนี้ เอไอเอ ในฐานะผู้นำในตลาดประกันชีวิต เราพร้อมที่จะทำอย่างดีที่สุดในการให้ความรู้ และสนับสนุนคนไทยให้ก้าวไปสู่การมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม ซึ่งมันจะส่งต่อไปถึงลูกๆ ของคนกลุ่มนี้ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นประชากรไทยที่มีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต”
ข่าวเด่น