ซีอีโอทั่วโลกกังวลต่อผลกระทบจาก Digital disruption (การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิตอลที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่เดิม) ในธุรกิจของตน โดยซีอีโอรู้สึกกังวลต่อความสามารถของธุรกิจในการปรับตัวและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการรักษาความเป็นผู้นำในแวดวงธุรกิจของตนเอง
ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงาน KPMG's 2016 Global CEO Outlook ซึ่งได้รายงานถึงความคาดหวังของซีอีโอต่อการเติบโตของธุรกิจ ความท้าทายที่ซีอีโอได้พบ และกลยุทธ์ต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อความสำเร็จขององค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้า รายงานประจำปีที่จัดทำโดย KPMG International นี้ แสดงให้เห็นว่า ซีอีโอทั่วโลกมีความกังวลต่อความท้าทายและอุปสรรคหลายอย่างที่จะเกิดขึ้น โดยซีอีโอหลายคนระบุว่า ไม่เคยเจอกับปัญหาหรือความท้าทายนี่เลยตลอดการทำงานที่ผ่านมา
Digital disruption คือหนึ่งในความท้าทายที่เกิดขึ้น โดย 65 เปอร์เซ็นต์ของซีอีโอทั่วโลก เปิดเผยว่า มีความกังวลว่า เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่กำลังส่งผลกระทบต่อรูปแบบธุรกิจของตน และ 53 เปอร์เซ็นต์ของซีอีโอทั่วโลก เชื่อว่ารูปแบบธุรกิจของตนจะไม่ถูกกระทบจาก Digital disruption มากนัก
ซีอีโอยังแสดงออกถึงความกังวลในระดับมาตรฐานของระบบ Data & Analytic ของบริษัท รวมถึงระดับความสามารถในการติดต่อกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล มีซีอีโอเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อว่าบริษัทของตนเป็นผู้นำในเรื่อง Data & Analytic
มร. ธาม ไซ ชอย ประธานกลุ่มภูมิภาค เคพีเอ็มจี ประจำเอเชีย แปซิฟิก ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในงานสัมมนาที่จัดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ How to turn digital disruption into opportunity จัดโดย เคพีเอ็มจี ประเทศไทยว่า ซีอีโอจำเป็นที่จะต้องยอมรับการมาถึงของ Digital disruption และต้องมีการเตรียมความพร้อมและกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับ Digital disruption ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้
"เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการแข่งขันในทุกธุรกิจ ซีอีโอมีความสามารถและความรับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนบริษัทของตนเพื่อเป็นผู้นำท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ในการเตรียมความพร้อมบริษัทสำหรับอนาคต ซีอีโอต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ต้องรู้ว่าใครคือผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ ใครคือพันธมิตร และต้องมีแผนกลยุทธ์ที่รองรับกับการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ บริษัทจึงจะสามารถเป็นผู้แข่งขันที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ในอนาคต" มร. ธาม กล่าว
ณ ตอนนี้ Digital disruption เป็นสิ่งที่ซีอีโอตระหนักถึงความสำคัญ และให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยซีอีโอที่เห็นถึงความจำเป็นและโอกาสจาก Digital disruption ได้กำหนดกลยุทธ์และกำลังจะเริ่มลงมือปฏิบัติตามแผน เพื่อใช้ประโยชน์จาก Digital disruption
สำหรับประเทศไทย 'เศรษฐกิจดิจิทัล' เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะได้เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการเติบโตโดยรวมของประเทศ การรับและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ จะช่วยให้คนไทยทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้มากและหลากหลายขึ้น เช่น การใช้งานดิจิทัลแบงกิ้ง การซื้อของออนไลน์ และการเรียน การสอนผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนั้น แรงงานไทยสามารถเพิ่มทักษะของตนจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศอีกทางหนึ่ง
Digital disruption ยังเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจและ SMEs ของไทย บริษัทที่พร้อมรับและนำ Digital disruption มาปรับใช้ในองค์กร จะสร้างโอกาสให้ตนเองกุมความได้เปรียบในตลาดการแข่งขัน และพร้อมรับมือกับเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาในอุตสาหกรรมของตนด้วย
"บริษัทในประเทศไทย และผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ปรับตัวและมีการเตรียมความพร้อม จะได้รับประโยชน์และโอกาสจาก Digital disruption และสิ่งที่ดีก็คือ โดยส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้าหรือผู้ที่ใช้สินค้าบริการจะได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทนำ ดิจิทัล เทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการหรือสินค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า" คุณ วินิจ ศิลามงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย พม่า และลาว กล่าว
ข่าวเด่น