นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2559 ซึ่งได้จัดเป็นครั้งที่ 13 ในหัวข้อ 'โลกเปลี่ยน คลังปรับ'เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2559 ณ ห้องคริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ ในช่วงเช้า ว่า การสัมมนาวิชาการของ สศค. ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 600 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลัง และเป็นเวทีให้ข้าราชการ สศค. ได้นำเสนอผลงานในเรื่องที่สำคัญและอยู่ในความสนใจของสังคม พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชนผู้สนใจ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาไปสู่ข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อไป
สศค. ได้รับเกียรติจากนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการคลังการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งได้เน้นว่า สภาพแวดล้อมทางศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งในระยะต่อไปทั่วโลกจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง มาตรการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs)
รวมทั้งมีการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต 3 เป้าหมาย ได้แก่ (1) นโยบายการคลังการเงินเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น New Engine of Growth และเพื่อสนับสนุน SMEs และวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs Startup) มาตรการยกระดับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาระบบการชำระเงิน (National e-Payment) และการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ (2) นโยบายการคลังการเงินเพื่อสังคม ผ่านมาตรการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและแก้ไขหนี้นอกระบบ และ (3) นโยบายสร้างความโปร่งใสและส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย เช่นร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... และโครงการกระทรวงการคลังคุณธรรม ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าว จะเป็นการวางรากฐานให้เศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งจากภายในและรองรับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งต่อไป
ในช่วงเช้าของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอผลงาน เรื่อง “โลกเปลี่ยน คลังปรับ: เจาะยุทธศาสตร์การคลังไทย” สรุปได้ ดังนี้
นายพงศ์นคร โภชากรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายทั้งจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การแข่งขันทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เข้มข้นมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และสังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความยั่งยืน และความท้าทายจากภายใน ได้แก่ การก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ และการต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการคลังและกึ่งการคลังที่เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้มีภาระการคลังที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐเพิ่มอย่างจำกัด ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลัง กระทรวงการคลังจึงต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อรองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการคลังดังกล่าว
ดร. มณีขวัญ จันทรศร กล่าวถึงแนวทางของกระทรวงการคลังในการรองรับความท้าทายดังกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินของกระทรวงการคลัง(พ.ศ. 2559-2563) และแผนแม่บทการคลังเพื่อสังคม (พ.ศ. 2559-2563) ที่สอดรับกับร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ประการคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสนับสนุนศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง และการเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลและเป็นมืออาชีพ โดยประกอบด้วย 12 ยุทธศาสตร์ ขณะที่แผนแม่บทการคลังเพื่อสังคม มี 5 เป้าหมาย กล่าวคือ ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีรายได้เพียงพอและลดความเหลื่อมล้ำ พึ่งพาตนเองได้ มีการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และภาคเอกชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการเพื่อสังคม โดยประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งแผนแม่บทฯ ดังกล่าวมีโครงการรวมกันมากกว่า 80 โครงการ
ทั้งนี้ โครงการสำคัญภายใต้ร่างแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินฯ และร่างแผนแม่บทการคลังเพื่อสังคม ประกอบด้วย 6 โครงการ ดังนี้
1. กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็น New Engine of Growth 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพโดยจัดตั้งกองทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาบุคลากรและมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมและบริการของภูมิภาคและยกระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ
2. การสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้เป็นอุตสาหกรรมและบริการทันสมัย มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติเป็นศูนย์รวม โดยกระทรวงการคลังจะมีมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ Startup มีมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดสังคมที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน และส่งผลให้การค้าและการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น
3. การลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ National e-Payment เป็นช่องทางในการให้สวัสดิการ ผู้มีสิทธิลงทะเบียนต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน1 แสนบาทต่อปี และสมัครใจที่จะเปิดเผยข้อมูล ลงทะเบียนผ่านธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีฐานข้อมูลที่บ่งชี้เพื่อให้สวัสดิการได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐเพื่อความโปร่งใส
4. บ้านประชารัฐ มีมาตรการสินเชื่อเพื่อผู้พัฒนาโครงการ วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อเพื่อผู้อยู่อาศัยในโครงการ วงเงินสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งจะมีผลในการลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีที่อยู่อาศัยของตนเอง และส่งเสริมโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์
5. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุ 15-60 ปี ซึ่งนอกจะทำให้รายได้หลังเกษียณของแรงงานในระบบประมาณ 11 ล้านคน เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่เพียงพอเฉลี่ยร้อยละ 50 ของเงินเดือนเดือน ยังเป็นจะเป็นการทำให้เงินออมในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนอีกด้วย และ
6. ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มีแนวทางในการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศในระยะยาวอย่างชัดเจน และครอบคลุมนวัตกรรมการคลังใหม่ ๆ เช่น การจัดทำกรอบการคลังระยะปานกลางรวมทั้งช่วยให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์การคลังของทั้งประเทศ ทั้งในระดับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และรัฐบาลท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม
รศ. ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า ปัญหาของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย คือ การพัฒนาเชิงนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงของระบบสถาบันทางเศรษฐกิจตามระดับการพัฒนา โดยเห็นว่า ร่างแผนแม่บทฯ ของกระทรวงการคลังควรครอบคลุมเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ และเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษีโดยลดสัดส่วนภาษีจากฐานรายได้และเพิ่มรายได้จากฐานทรัพย์สิน ทั้งนี้ การพัฒนาในระดับต่อไปรัฐต้องสร้างระบบที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จูงใจให้ใช้เทคโนโลยี พัฒนาระบบการเงิน พัฒนาผู้ประกอบการในประเทศ และสร้างระบบกลไกสำหรับผู้ที่พลาดให้กลับเข้ามาเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจได้
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยในหลักการของร่างแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินฯ และร่างแผนแม่บทการคลังเพื่อสังคมของกระทรวงการคลัง โดยเห็นว่า การรักษาความยั่งยืนทางการคลังมีความสำคัญที่สุด โดยสนับสนุนให้มีพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐและมีข้อเสนอแนะว่า กระทรวงการคลังควรมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแนวทางการใช้เครื่องมือต่าง ๆ นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือหรือกลไกทางเศรษฐกิจในอนาคตควรพิจารณาถึงความซ้ำซ้อนกับกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ สศค. จะนำข้อเสนอแนะ และข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ไปใช้ในการพัฒนางานและประกอบการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข่าวเด่น