เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐ-เอกชนจับตาเงินบาทแข็งค่า








 


เงินบาทที่ทะยานแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์   เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด   โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย    ซึ่งกรณีดังกล่าว   นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ  ยืนยันว่า   รัฐบาลมีมาตรการที่ช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป    จนกระทบต่อภาคธุรกิจ  แต่สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ   ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของไทยที่แข็งแกร่ง 
 
 
 
ส่วนนายสมชัย   สัจจพงษ์   ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่า   เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  สามารถดูแลได้ และกระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท.    โดยการแข็งค่าของเงินบาทต้องมาดูอีกว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นหรือระยะยาว แต่เชื่อมั่น ธปท.สามารถรับมือได้ไม่มีปัญหา
 
 
         
 
 
ส่วนภาพรวมการส่งออกของไทยในขณะนี้   ยอมรับว่ายังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ ภาครัฐพยายามจะลดการพึ่งพาภาคการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และหันมาพึ่งพาการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในแทน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อได้
         
นายกฤษฎา   จีนะวิจารณะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.3% ตามที่คาดการณ์กันไว้ แม้ว่าภาคส่งออกจะติดลบเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสริมตัวอื่น เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเข้ามาทดแทนกันได้ ซึ่งต้องขอรอดูสถานการณ์ และรายละเอียดตัวเลขหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้อง
         
ขณะที่ การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในช่วง 10 เดือนของปีงบ 59 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 9.1 หมื่นล้านบาท   โดยมีปัจจัยเสริมสำคัญ คือรายได้พิเศษจากการประมูล 4G รอบ 2 อีกประมาณ 8 พันล้านบาท

ด้านนายนพพร    เทพสิทธา    ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สภาผู้ส่งสินค้า ยอกรับว่า   ปัจจุบันสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน   ซึ่งมั่นใจว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. จับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิ ด โดยหากค่าเงินบาทแตะที่ระดับ34.00 - 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทางสภาผู้ส่งออก จะขอเข้าหารือร่วมกับ ธปท. ให้เข้ามาดูแลค่าเงินบาท
 
   
ขณะที่นายธนวรรธน์   พลวิชัย    ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย    กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว  จนแตะระดับ  34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ว่า    ภาคธุรกิจบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบแล้วในระดับปานกลาง เพราะการส่งออกจะลดลง  ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงสูงขึ้น   ทำให้ชะลอการผลิต   จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่านี้  ซึ่งภาคธุรกิจเห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ส่งผลต่อการส่งออกคือระดับ 35.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  และอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม คือ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ส.ค. 2559 เวลา : 07:32:48
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:28 am