เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐผ่านร่างกฎหมาย4 ฉบับรวดหนุนเอกชนลงทุน


 


การลงทุนภาคเอกชนนับเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล  ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน และนำพาประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรม4.0   ซึ่งต้องยอมรับว่า  เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว  ทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย    ดังนั้นเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุน   รัฐบาลจึงได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน , ร่าง พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย , ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ   และ ร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  
 

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ได้แก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2520 เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้กับบีโอไอ    ทั้งยังกำหนดให้สามารถยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง  การวิจัยและพัฒนา ส่วนกิจการใดที่คิดว่าอยากให้การส่งเสริม แต่ไม่สามารถยกเว้นภาษีได้ก็ให้ลดหย่อนภาษีแทน  โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 50% เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือหากไม่ได้รับการยกเว้นและลดหย่อน อาจหักเงินลงทุนได้ไม่เกิน 70% ของเงินที่ลงทุนแล้วจากกำไรสุทธิ ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีรายได้   เป็นต้น

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ  การจัดการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย   เป็นการต่อยอดจากร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ  โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย   นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน   มีหน้าที่กำหนดกรอบ แนวทางการเจรจาและสิทธิประโยชน์ที่จะให้ มีอนุกรรมการสรรหาและเจรจา รองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน บีโอไอเป็นฝ่ายเลขาฯ เป็นต้น มีกองทุนประเดิม 1 หมื่นล้านบาท  ให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากบีโอไอ  เช่น   สามารถยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 15 ปี   และให้เงินสนับสนุนจากกองทุนสำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ใช้ในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและบุคลากร เป็นต้น
 
         
สำหรับร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ  และพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมฯ  เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในพื้นที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการ  ให้บริการแบบจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดนิยามของคำว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" หมายถึงเขตพื้นที่เฉพาะที่ครม.ประกาศกำหนดเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็น และการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จใจเขตพื้นที่นั้น   รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในเขตพื้นที่นั้น เป็นต้น รวมใน 10 จังหวัด  เช่น   ตาก  สระแก้ว สงขลา นราธิวาส และกาญจนบุรี  เป็นต้น
         
พร้อมกำหนดให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีหน้าที่เสนอแนะ ครม.ในการกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยนายกฯเป็นประธาน เลขาฯสภาพัฒน์ เป็นเลขาธิการ    ซึ่งกำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่จัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสในเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนั้นๆ   รวมถึงสามารถอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย 9 ฉบับ  เช่น    กฎหมายควบคุมอาคาร โรงงาน ผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน   เป็นต้น 
 
        
ส่วนเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน  นายวัลลภ  วิตนากร  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)  ยอมรับว่า   เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ภาครัฐและบีโอไอพูดกันมาระยะหนึ่งแล้ว    โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 13 ปี สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเรื่องนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนามาเกี่ยวข้อง    รวมถึงการจัดการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย   ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่า  เป็นเรื่องดีที่จะช่วยจูงใจให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น     และอุตสาหกรรมก็ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง   สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่จะเดินไปสู่อุตสาหกรรม 4.0ได้เร็วขึ้น
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ส.ค. 2559 เวลา : 08:19:21
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:59 am