เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB ประเมินปลดล็อคสัญญาการถือครอง5ปีโครงการรถคันแรกส่งผลบวกต่อยอดขายปี 2560


 


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ออกบทวิเคราะห์ ทิศทางรถยนต์...หลังปลดล็อครถคันแรก

 
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินการปลดล็อคสัญญาการถือครองห้าปีของโครงการรถคันแรกจะเริ่มส่งผลบวกต่อยอดขายในปี 2560 และคาดยอดขายจะอยู่ที่ 8 แสนคัน ด้วยปัจจัยพื้นฐานหนุน

เดือนกันยายนนี้ รถยนต์ภายใต้โครงการรถคันแรก ซึ่งมีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคัน จะเริ่มทยอยเข้าคิวปลดล็อคสัญญาการถือครองที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องถือครองรถที่ซื้อมาอย่างน้อยห้าปี  จึงจะสามารถขายออกได้ ทำให้มีความหวังว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะดีขึ้น เนื่องจากจะเริ่มมีผู้บริโภคที่รอคอยการปลดล็อคการถือครองขายรถออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นรถใหม่

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า แม้จะมีรถยนต์ที่ทยอยปลดล็อคสัญญาฯ แต่จะไม่ทำให้ยอดขายกลับมาได้มากนักในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากช่วงแรกของโครงการฯ มีผู้เข้าร่วมน้อย เพราะปลายปี 2554 มีน้ำท่วมใหญ่ ดังนั้น ยอดขายรถยนต์ในปี 2559 น่าจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากการบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าทั้งปี 2559 ยอดขายรถยนต์จะอยู่ที่ 7.5 แสนคัน สำหรับทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2560 ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่ากำลังซื้อจะกลับเข้าสู่ระดับแนวโน้มปกติ และคาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 8 แสนคัน  โดยมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน ได้แก่
ปัจจัยแรก การครบสัญญาการถือครองรถคันแรก จะเริ่มส่งผลทำให้ยอดขายดีขึ้นในปี 2560 เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่ซื้อรถยนต์ในปี 2555 ซึ่งจะครบกำหนดถือครองฯ ในปี 2560 จึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ สามารถขายรถออกไปและซื้อรถใหม่ทดแทนได้ โดยคาดว่าผลของการปลดล็อคเงื่อนไขรถคันแรกจะส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นไป

ปัจจัยต่อมา ปริมาณรถเก่าในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลจำนวนรถยนต์จดทะเบียนของกรมขนส่งทางบก (ณ มิถุนายน 2559) พบว่ากว่าร้อยละ 45 ของรถยนต์ส่วนบุคคล 14.6 ล้านคัน เป็นรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี สัดส่วนรถเก่าที่มากขึ้นชี้ถึงโอกาสความต้องการซื้อรถคันใหม่ทดแทน เพราะซื้อคันใหม่คุ้มค่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าบำรุงรักษาที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะเห็นว่าเศรษฐกิจในปี 2558 ยังไม่ฟื้นตัวแต่อายุรถยนต์เฉลี่ยบนท้องถนนที่สูงกว่า 11 ปี ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถใหม่ทดแทน ส่งผลให้ยอดขายรถใหม่เพิ่มขึ้น ย้อนกลับมาดูอายุรถยนต์เฉลี่ยของไทยคำนวณโดยศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ (ส่วนใหญ่รถปิคอัพ) มีอายุเฉลี่ย 11.6 ปี และรถยนต์นั่งมีอายุเฉลี่ย 8.4 ปี จะพบว่าอายุเฉลี่ยของรถยนต์เชิงพาณิชย์ของไทยมีความใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อรถใหม่ทดแทนรถเก่า
 
 
ปัจจัยสุดท้าย รถรุ่นใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น จะเห็นว่าปัจจุบันค่ายรถยนต์ต่างนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีระบบความปลอดภัยที่ดี  ประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาผสมผสานในการควบคุมระบบของรถยนต์เพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ขับขี่ และมีรถยนต์หลากหลายยี่ห้อหลากหลายรุ่นที่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ต้องการประสบการณ์การขับขี่ใหม่ๆ ตัดสินใจซื้อ

กล่าวโดยสรุป การปลดล็อคเงื่อนไขรถคันแรกในเดือนกันยายนนี้ จะยังไม่ส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่จะเริ่มส่งผลนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป และภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นกอปรกับอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ จะส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์กลับเข้าสู่แนวโน้มปกติได้ในปี 2560 พร้อมทั้งประเมินว่าผู้บริโภคจะมีแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ทดแทนรถเก่า และความต้องการประสบการณ์การขับขี่ภายใต้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพของรถรุ่นใหม่ 
 
 

LastUpdate 26/08/2559 15:58:06 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:32 am