เสวนา 'ไฟฟ้าไทย อย่างไรจะลงตัว' กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เชื่อมั่น PDP ลงตัวทั้งด้านโรงไฟฟ้าหลัก พลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงาน ภาคประชาชนห่วงการบังคับใช้แผนอนุรักษ์พลังงาน และควรทบทวนการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เนื่องจากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น ด้าน กกพ. ยอมรับ การพัฒนาระบบส่งรองรับพลังงานหมุนเวียน ไม่ทันกับพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตเร็วเกินคาด แต่สถานการณ์จะดีขึ้นตั้งปีแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดเสวนาเรื่อง “ไฟฟ้าไทย อย่างไรจะลงตัว” ณ ห้องประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ตึกช้าง โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม (รวค.) นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นายสุวัฒน์ กมลพนัส รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางสาวสุวพร ศิริคุณ กรรมการ และเลขนุการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ข้อสำคัญที่โดดเด่นของแผนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ PDP 2015คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจากสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนถึง 6 ครั้ง ซึ่งสิ่งที่ประชาชนมีความคิดเห็นร่วมกัน คือ “การกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า” โดยวิธีที่จะช่วยได้มากที่สุด คือ การเพิ่มสัดส่วนของถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่เกินร้อยละ 25 การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ราวร้อยละ 20 และ การรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน
“ผมเห็นว่า แผน PDP เป็นแผนที่มีความลงตัวทั้งทางด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การมีโรงไฟฟ้าหลัก การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงาน” รองโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว
20160826 P02 03
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสายส่งเต็ม จึงมีแผนจะก่อสร้างระบบส่งเพิ่มเติม โดยภายในปี 2567 ระบบส่งขนาด 500 กิโลวัตต์ จะต้องเป็นใยแมงมุมกระจายไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการขยายระบบส่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP จะสามารถรองรับได้ถึง 5, เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดดี และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน โดยมีการเซ็น MOU ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศไปแล้ว ๗,๐๐๐ เมกะวัตต์ และมีแผนจะซื้อเพิ่มเป็น ๙,๐๐๐ MW
ขณะเดียวกัน รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับหากโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ไม่เกิดขึ้น จะเป็นอย่างไร ว่า ทางกระทรวงพลังงานก็มีแผนบริหารความเสี่ยง ซึ่งไทยก็ยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ และ ปตท. จะนำ LNG เข้ามา แต่ที่ กฟผ อยากผลักดันให้ได้เพราะ ถ่านหินทำให้ค่าไฟถูกกว่าเชื้อเพลิงอื่น และมีปริมาณสำรองมาก ทำให้มีเสถียรภาพในระยะยาว
รองผู้ว่าการกิจการสังคม ยังได้ตอบคำถามภาคประชาชน เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานว่า ผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ เพราะ กฟผ. ก็เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วย โดยชี้แจงว่า กฟผ. ดำเนินงานตามที่รัฐบาลมอบหมาย ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลด้านไฟฟ้าของประเทศ โดยไม่ได้หวังผลกำไร ขณะเดียวกัน การดำเนินงานรับผิดชอบงานด้าน DSM (Demand Side Management) ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยความร่วมมือของประชาชน สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเทียบเท่าลดการสร้างโรงไฟฟ้า 4,050 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าเม็ดเงิน 64,000 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนการลดการใช้ไฟฟ้าได้ 24,000 ล้านหน่วย ที่สามารช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้มากถึง 14 ล้านตัน
“กฟผ. ดำเนินงานทั้งสองขา แม้จะดูขัดกัน แต่ กฟผ. ไม่เคยดำเนินกิจการไฟฟ้าด้วยจิตวิญญาณในแง่ธุรกิจ แต่ดำเนินในแง่สาธารณูปโภค” นายสหรัฐ กล่าวยืนยัน
นายสุวัฒน์ กมลพนัส รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับแผน PDP ๒๐๑๕ ที่มุ่งเน้นกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เช่น แสงอาทิตย์ และลม ถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน เพราะผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลาของวัน ในขณะที่ ถ่านหิน อาจทำให้เกิดพลังงานที่มั่นคง แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ทางด้านความยั่งยืน แต่ก็เห็นว่า การวางแผนพลังงานคงจะต้องมองทุกๆ ด้าน
ทั้งนี้ เชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่อยากให้สนับสนุนคือ ชีวมวลและขยะ เนื่องจากมีทั้งความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะผลิตได้ตลอดเวลา ราคาถูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐต้องช่วยกันสนับสนุนพลังงานจากชีวมวลและขยะพัฒนาไปในรูปแบบของโรงไฟฟ้าหลักต่อไป ในส่วนของการติดแผงโซล่าเซลล์ ปัจจุบันที่โรงงานจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจเนื่องจากมีต้นทุนถูกลง สามารถนำมาลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง PEAK ซึ่งจะคืนทุนได้ในเวลา 8 -9 ปี ซึ่งจะเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัว
เมื่อพูดถึงในประเด็นเรื่องราคาค่าไฟฟ้านั้น ทาง นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ค่าไฟฟ้าในปีหน้ามีแนวโน้มที่ทรงตัวและจะอยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดว่า โครงการพลังงานทดแทน เช่น ชีวมวล จะทยอยเข้ามาในระบบ ซึ่งปัจจุบัน การอุดหนุนพลังงานทดแทนอยู่ในค่าไฟฟ้าประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย ปีหน้า ค่าไฟฟ้าก็จะรวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๔๐๐ ล้านบาท จึงประเมินว่าแนวโน้มค่า Ft ในปีหน้าจึงคาดว่าเพิ่มขึ้น
“เพราะเราส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นนโยบาย ระยะยาวค่าไฟฟ้าจะอยู่ราว ๔-๕ บาท (ต่อหน่วย) ซึ่งปีหน้าราคาค่าไฟจะสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีเชื้อเพลิงประเภทใดเข้าระบบ ถ้าหากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เข้าระบบ ก็ต้องนำเข้า LNG ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้ ที่เป็นห่วงอีกอย่างคือ พลังงานทดแทนพึ่งพิงไม่ได้ แสงอาทิตย์ผลิตได้เฉพาะกลางวัน ลมแต่จะช่วงก็ไม่เหมือนกัน โรงไฟฟ้าตัวเล็กๆ มีความไม่สม่ำเสมอ ระยะยาวทำอย่างไร จะให้ชีวมวลผลิตแบบ firm ให้ได้ จะช่วยระบบได้มาก” กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุ
สำหรับการสร้างระบบส่งรองรับพลังงานหมุนเวียน เป็นความรับผิดชอบของ กกพ. ด้วย เพราะต้องดูแลการลงทุนด้านไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งในปัจจุบัน อาจจะยังไม่ทันกับพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตเร็วเกินคาด แต่สถานการณ์จะดีขึ้นตั้งปีแต่ปี 2561 เป็นต้นไป แต่ที่เป็นห่วงเรื่องการคัดค้านการขยายระบบส่ง แม้ว่าปัจจุบันค่าทดแทนการรอนสิทธิ์จะมีราคา 2 – 3 เท่าตัวของราคาประเมินแล้วก็ตาม
ในด้านการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ยอมรับว่า เป็นเรื่องยาก มีใครบอกได้บ้างว่าเศรษฐกิจอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในอดีตการใช้ไฟฟ้าจะเป็นไปตามการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีปัจจัยซับซ้อนมากขึ้น “ประเด็น คือ มีการผลิตเองอยู่นอกระบบ ซึ่งเราไม่มีตัวเลข ตอนนี้ก็พยายามรวบรวมตัวเลขที่มีการผลิตใช้เอง เพื่อจะทำให้การพยากรณ์แม่นยำขึ้น”
นางสาวสุวพร ศิริคุณ กรรมการ และเลขนุการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่นำมาบูรณาการในแผน PDP มีการวางแผนมาอย่างดี แต่มีความกังวลเรื่องการบังคับใช้ ให้สามารถลดการใช้พลังงานได้จริง และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแผน PDP ที่อาจจะสูงเกินไป
นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้อุปกรณ์หรือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาถูกลง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และประชาชนบางส่วนเริ่มมีการติดตั้งเพื่อใช้เอง ในส่วนนี้จะส่งผลต่อการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเช่นกัน เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคไฟฟ้าอาจไม่ได้ต้องการพึ่งพาไฟฟ้าจากในระบบมากเหมือนก่อน หากไม่มีสำรวจข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี จะส่งผลให้การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่แม่นยำ และสูงเกินจริงเหมือนที่เป็นอยู่
“หากสามารถผลักดันแผนอนุรักษ์ให้เกิดผลสำเร็จตามแผน ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะไม่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลดีในแง่ของการชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และภาครัฐจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ” นางสาวสุวพร กล่าว
ข่าวเด่น