เศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างชัดเจนมากขึ้น จากการรายงานภาวะสังคมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) โดย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. บอกว่า ภาวะสังคมในไตรมาสที่2/2559 การจ้างงานอยู่ที่ 37.39 ล้านคน ลดลง 0.90% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ทำให้การว่างงานในภาพรวมอยู่ที่ 411,123 คน หรือ 1.08% เพิ่มขึ้นจาก 0.88% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยการจ้างงานในภาคเกษตรลดมากถึง 6.2% แม้ภาวะภัยแล้งจะดีขึ้น แต่ยังมีผลกระทบสะสมจากปี 2557 ทำให้กิจกรรมในภาคเกษตรลดลงเป็นไตรมาสที่9ติดต่อกัน แต่เชื่อว่า สถานการณ์น้ำที่ดีขึ้น จะทำให้การจ้างงานในภาคเกษตรค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมการจ้างงานลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยไตรมาสที่2 ลดลง 1.7% สอดคล้องกับการส่งออกที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันการส่งออกเริ่มทรงตัวแล้วและเชื่อว่าภาวการณ์ส่งออกในครึ่งปีหลังจะเริ่มดีขึ้น โดย สศช.คาดว่าจะติดลบ1.9% ขณะที่ครึ่งแรกติดลบแล้ว2.2%เท่ากับครึ่งหลังจะต้องดีขึ้นซึ่งจะช่วยให้การจ้างงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมไม่ลดลงอีก
นอกจากนี้ ยังพบว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะในส่วนของการก่อสร้าง การขนส่ง โรงแรมและภัตตาคาร และค้าปลีก ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่5.4% 1.4% 4.0%และ1.4%ตามลำดับ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญดูดซับแรงงานจากภาคการผลิตได้
สำหรับรายได้แรงงานพบว่า ค่าจ้างและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น1.3% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้นอกภาคเกษตร 1.4% แต่รายได้ภาคเกษตรลดลง2.7%
ทั้งนี้สศช.ยังได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่สนใจ ในหัวข้อ"การประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย" ซึ่งพบว่า การประกอบอาชีพของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ค้าขายรายย่อยมากขึ้น โดยผลสำรวจพบว่าผู้ค้าขายรายย่อยต่างด้าว 40% เป็นเจ้าของกิจการในหลายรูปแบบทั้งเป็นเจ้าของเอง รับช่วงจากผู้ออกทุนโดยตกลงแบ่งผลประโยชน์การค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าว ทำให้มีข้อกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ความสะอาดและสุขอนามัย การแพร่ระบาดของโรค ปัญหาอาชญากรรม และการใช้ทรัพยากรและบริการสาธารณะ
ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดงานอาชีพสำหรับคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการใช้แรงงานต่างด้าว รวมทั้งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำของคนต่างด้าวให้กับแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานไทย
และเมื่อกล่าวถึงสถานการณ์แรงงาน ย่อมหนีไมพ้นที่จะพูดถึงการปรับขึ้นค่าแรง โดย นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. กล่าวว่า คสรท. เตรียมทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงาน เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากันทุกพื้นที่ทั่วประเทศจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 360 บาท ตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น เพราะถึงแม้ภาครัฐจะจัดงานธงฟ้า เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน แต่ผู้ได้รับประโยชน์มีแค่บางพื้นที่
ขณะที่อัตราการว่างงานในปัจจุบันล่าสุดพบว่าเพิ่มขึ้นเกิน 1% ซึ่งมีผลมาจากหลายสาเหตุ อาทิ นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้คนซื้อรถเมื่อหลายปีก่อน ทำให้รถยนต์มีความต้องการสูง โรงงานหรืออุตสาหกรรมรับคนเพิ่ม แต่ขณะนี้ความต้องการถึงจุดอิ่มตัว ทำให้ผู้ประกอบการบางแห่งต้องลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการลดจำนวนพนักงาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ที่อนาคตจะนำเรื่องเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นและภาคการส่งออกที่ชะลอตัว
ข่าวเด่น