เบี้ยประกันชีวิตรับรวมตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2559 รวมทั้งสิ้น 321,843.29 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.70 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 92,473.14 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 229,370.15 ล้านบาท โดยมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 83
นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในการพิจารณาข้อมูลสถิติของธุรกิจประกันชีวิต สมาคมจะพิจารณาแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่หนึ่ง พิจารณาจากขนาดของบริษัท และกรณีที่สอง พิจารณาจากการขยายงานของบริษัท จากสถิติเบี้ยประกันชีวิตรับรวม ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ของปี 2559 (1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2559) มีดังนี้
1. เบี้ยประกันชีวิตรับรวม มีทั้งสิ้น 321,843.29 ล้านบาท บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมสูงสุด หรือมีขนาดใหญ่สูงสุด 7 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 บจ.เอ.ไอ.เอ. จำนวน 64,848.93 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 20.15
อันดับที่ 2 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 57,800.20 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 17.96
อันดับที่ 3 บมจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 44,053.29 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 13.69
อันดับที่ 4 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำนวน 33,547.70 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.42
อันดับที่ 5 บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำนวน 32,312.20 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.04
อันดับที่ 6 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต จำนวน 25,079.42 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 7.79
อันดับที่ 7 บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำนวน 17,187.90 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 5.34
รวม 7 อันดับแรก ครองสัดส่วนการตลาดร้อยละ 85.39 และอีก 15 บริษัทที่เหลือครองสัดส่วนการตลาด ร้อยละ 14.61
2. เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ มีทั้งสิ้น 92,473.14 ล้านบาท บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่สูงสุด หรือมีการขยายงานสูงสุด 7 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 20,276.01 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 21.93
อันดับที่ 2 บจ.เอ.ไอ.เอ. จำนวน 13,545.50 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 14.65
อันดับที่ 3 บมจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 12,462.00 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 13.48
อันดับที่ 4 บมจ.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จำนวน 9,139.38 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 9.88
อันดับที่ 5 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำนวน 8,341.59 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 9.02
อันดับที่ 6 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต จำนวน 5,770.64 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 6.24
อันดับที่ 7 บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำนวน 4,330.28 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 4.68
ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปมีจำนวน 229,370.15 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.05 โดยมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 83 ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แสดงถึงผู้เอาประกันชีวิตให้ความสำคัญต่อการประกันชีวิตตลอดมา รวมถึงบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัทได้มีการพัฒนาแบบของผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด สมาคมจึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้ขอเอาประกันภัยที่ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แล้ว อย่าขอยกเลิกกรมธรรม์ฯ ก่อนครบกำหนดสัญญา หรือเวนคืนกรมธรรม์ฯ ฉบับเก่าเพื่อไปซื้อฉบับใหม่ มิฉะนั้นจะทำให้เกิดผลเสีย ดังนี้
1) เงินเวนคืนที่ได้รับจะน้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระไปแล้ว โดยเฉพาะในปีแรกๆ ของการทำประกันชีวิต 2) การซื้อกรมธรรม์ฯ ฉบับใหม่ ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น เนื่องจากอายุที่มากขึ้น และ 3) ในการทำกรมธรรม์ฯ ฉบับใหม่ ผู้เอาประกันภัยจะต้องแถลงข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพต่อบริษัทประกันชีวิต ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มนับระยะเวลาในการใช้สิทธิโต้แย้งใหม่ (2 ปี) และหากผู้ขอเอาประกันภัยมีปัญหาสุขภาพ บริษัทมีสิทธิปฏิเสธไม่รับประกันภัยได้ หรืออาจต้องชำระเบี้ยประกันภัยในอัตราที่สูงขึ้น นอกจากนี้หากซื้อสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ จะต้องมีการเริ่มนับระยะเวลารอคอยใหม่ ทั้งยังเสียโอกาสที่จะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง สมาคมจึงขอให้ผู้ขอเอาประกันภัยที่ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แล้ว ชำระเบี้ยประกันชีวิตตามกำหนดเวลาจนกระทั่งครบกำหนดสัญญา และอย่าเวนคืนกรมธรรม์ฯ ฉบับเก่าเพื่อไปซื้อฉบับใหม่
ข่าวเด่น