ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี ออกบทวิเคราะห์ "วางผังธุรกิจชีวภาพไทยโตอย่างไรให้ยั่งยืน"
ธุรกิจพลังงานชีวภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกรวมถึงไทย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับประเทศ กระแสรักษ์โลกที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาใช้ผลิตพลังงานชีวภาพ อีไอซีนำเสนอมุมมองโอกาสและความท้าทายของธุรกิจพลังงานชีวภาพในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 1) ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ 2) ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล และ 3) ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ ซึ่งอีไอซีประเมินว่าหากภาครัฐยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การลงทุนในธุรกิจนี้จะอยู่ที่ราว 1.8-2.0 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2559 ถึงปี 2563
ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เหตุผลหลักของการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างแก๊สโซฮอล์ หรือไบโอดีเซลของไทย เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากนี้ เชื้อเพลิงชีวภาพผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิต และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำจะเป็นความท้าทายที่สำคัญของธุรกิจ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณและราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การแข่งขันจากต่างประเทศ และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะกระทบต่อการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในระยะยาวแต่ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพยังมีโอกาสเติบโตได้สูงจากการพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้เอทานอล และไบโอดีเซลในอัตราส่วนที่สูงขึ้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีคุณภาพสูง และการขยายตัวของสถานีบริการน้ำมัน E20 และ E85 ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต
ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลได้รับความสำคัญจากภาครัฐเป็นอันดับต้นๆ เพราะมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศโดยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยกว่า 60% พึ่งพิงวัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบชีวมวลซึ่งหาได้ในประเทศ อีกทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุของเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้งนี้ แม้ธุรกิจนี้ยังมีความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนและปริมาณของเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับการผลิตในระยะยาว แต่ยังมีโอกาสในการลงทุนซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ ทั้งในด้านความต้องการและทำเลที่ตั้งโรงไฟฟ้า รวมถึงนโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญต่อปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล
ธุรกิจพลาสติกชีวภาพมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอิทธิพลของกระแสรักษ์โลก การลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มทางเลือกและมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร ปัญหาขยะพลาสติก และปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ทำให้เทรนด์การบริโภคทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนไปยังผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายง่ายจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมเพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไป ดังนั้น ธุรกิจพลาสติกของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทั้งนี้ ไทยมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของธุรกิจพลาสติกชีวภาพในอาเซียนเพราะธุรกิจนี้มีความพร้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งพลาสติกชีวภาพจะช่วยให้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรอย่างมันสำปะหลัง และอ้อยมีตลาดรองรับมากขึ้น รวมถึงสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรเหล่านี้ได้ แม้ว่าธุรกิจพลาสติกชีวภาพยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เช่น ต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง เทคโนโลยีการผลิตและคุณสมบัติของพลาสติกชีวภาพที่ค่อนข้างจำกัด รวมถึงความเสี่ยงของราคาน้ำมันและสินค้าเกษตร ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของพลาสติกชีวภาพ แต่แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจพลาสติกชีวภาพขยายตัว และเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมเพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไปในอนาคต
ธุรกิจพลังงานชีวภาพยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญด้านความยั่งยืนของการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีการใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรทับซ้อนระหว่างภาคอาหารและภาคพลังงาน มีการแข่งขันด้านราคากับพลังงานจากเชื้อเพลิงอื่นๆ และข้อสงสัยในประเด็นเรื่องความได้เปรียบทางด้านสิ่งแวดล้อมของพลังงานชีวภาพเมื่อเทียบกับพลังงานที่ผลิตจากฟอสซิล ดังนั้น การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่มูลค่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ธุรกิจพลังงานชีวภาพสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น