กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบราง นำงานวิจัยพัฒนาระบบราง สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการขนส่ง/การเดินรถ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบรางของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ตรวจติดตามของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศ และมาตรฐานสากล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานในครั้งนี้เกิดจากความตั้งใจในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา การจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์สำหรับระบบราง การพัฒนาห้องปฏิบัติการในประเทศด้านการวิเคราะห์ทดสอบ คุณภาพ ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบราง หวังให้เกิดการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของระบบราง รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านระบบราง ร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางที่ยั่งยืน เกิดมาตรฐานชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางรถไฟของประเทศ
“...ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความร่วมมือของทั้ง วว. รฟท. และ สมอ. เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งซึ่งมีผลกระทบทั้งมิติด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนมีผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมระบบรางต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาด้านระบบรางอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านงานทดสอบรับรองและมาตรฐานสำหรับชิ้นส่วน อุปกรณ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบราง สำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง 3 ในวันนี้ ถือเป็นพันธะสัญญาที่จะทำงานร่วมกันให้บรรลุผลสำเร็จเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางรางและบริการของไทยสามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถแข่งขันและเติบโตในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน...” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าว
นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีส่วนในการปรับเปลี่ยนอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย การปรับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 ที่เชื่อมโยงทุกส่วนผ่านทางอินเตอร์เน็ต และการเติมเต็มฐานการผลิตที่มี ด้วยความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และมีการวิจัยและพัฒนา รองรับตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง และมีการพัฒนา 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ระบบขนส่งทางรางนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องมีการพัฒนา เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของระบบขนส่งทางรางเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางบกและระบบโลจิสติกส์ของประเทศในอนาคต สำหรับ สมอ. นั้นทำหน้าที่ในฐานะผู้นำด้านการมาตรฐาน มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้งานเข้ากันได้ของระบบรถไฟเพื่อความมีประสิทธิภาพในการเดินรถและการซ่อมบำรุง สามารถใช้ชิ้นส่วนร่วมกันสามารถใช้โรงงานซ่อมบำรุงร่วมกันและยังสามารถใช้เส้นทางเดินรถร่วมกัน การให้บริการมาตรฐานการทดสอบ การส่งเสริมสนับสนุนการผลิต ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟให้มีศักยภาพการผลิตในประเทศ เช่น วัสดุทางรถไฟ ให้มีมาตรฐานตามหลักสากลเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ ในเบื้องต้น เมื่อทำการผลิตรถไฟขึ้นใช้เองในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมาตรฐานเหล่านี้ และเมื่อจะก้าวไปสู่การผลิตในระดับสากลก็ยิ่งมีความจำเป็นในส่วนนี้มากขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งนโยบายระยะยาวตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (2560-2564) ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนที่นำทางระยะที่ 2 (Roadmap) และเตรียมการในระยะที่ 3 ตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม โดยขับเคลื่อนโครงการลงทุนระบบรางทั่วประเทศครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การพัฒนา
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้รับมอบหมายให้เร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ ที่มีความล่าช้ามานานนับสิบปี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการทั้งในส่วนที่เป็นรายได้ค่าโดยสารและการพัฒนาที่ดินสองข้างทางให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปองค์กรให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้นความร่วมมือกับ 2 หน่วยงาน คือ วว. และ สมอ. ในครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะได้นำประสบการณ์ในด้านการขนส่งทางราง เสริมความสามารถในการแข่งขันและเสริมประสิทธิภาพงานโลจิสติกส์ของประเทศให้มีมาตรฐานในระดับสากล
อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมนโยบายการปฏิรูประบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมจะเร่งศึกษาและปรับแผนการขนส่งมวลชนให้เป็นระบบบูรณาการ จะต้องมีแผนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย โดยแนวคิดในการพัฒนาระบบรางของประเทศจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยต้องมีการขยายบริบทจากเพียงการมุ่งจัดหาขนส่งระบบรางมาใช้เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างเมืองจะต้องเปลี่ยนไปสู่บริบทการใช้ระบบรางให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่สามารถใช้เป็นกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ กระตุ้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การวางโครงสร้างพื้นฐานผ่านการคมนาคมขนส่งทางรางของรัฐบาล เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า
2 ล้านล้านบาท โดยทุกกระทรวงจะต้องร่วมมือผนึกกำลังกัน ทั้งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาระบบรางของประเทศให้มีความยั่งยืน การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของรัฐบาลนี้ จึงจะไม่ใช่แค่การจัดซื้อขบวนรถมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับระบบรางแล้วเสร็จ ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนเพื่อรองรับงานด้านดังกล่าว ในช่วงปี 2560-2564 ประมาณ 30,000 คน ซึ่งต้องนำไปวางยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวงและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ทันต่อความต้องการในอนาคต
ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานในการทดสอบเพื่อรับรองคุณภาพและความปลอดภัย การส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยระบบรางของประเทศ การสร้างระบบมาตรวิทยาด้านระบบราง การสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาชิ้นส่วนทดแทนการนำเข้า การดูดซับต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางให้แก่อุตสาหกรรมระบบรางไทย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้มีความจำเป็นต่อพัฒนาการขนส่งระบบรางของประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืนในระยะยาว
การที่จะดำเนินการให้สำเร็จผลลุล่วงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจำเป็นต้องมีแผนงานการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนหน่วยงานกำกับดูแลด้านรถไฟของประเทศและผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านวิชาการ มาตรฐาน การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งระบบรางและตัวรถไฟ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต ทั้งด้านการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับระบบราง
จากการบูรณาการความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานในครั้งนี้ กล่าวคือ วว. มีความพร้อมของห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางที่ทันสมัย มีผู้ใช้บริการจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน มีนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการทดสอบและพัฒนาชิ้นส่วนระบบราง พร้อมให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและการทดสอบเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในด้านระบบรางและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางที่มีคุณภาพได้รับรองการใช้งานได้อย่างปลอดภัย และความชำนาญของ รฟท. ที่มีประสบการณ์ ความรู้และมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ทางราง รวมถึง สมอ. ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการกำกับดูแล และควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ความร่วมมือครั้งนี้จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น