เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก ที่จะกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกในการสัมมนา”ทิศทางเศรษฐกิจและค่าเงินโลก เตรียมรับมือกับความผันผวนไตรมาสสุดท้าย” จัดโดยธนาคารกสิกรไทยว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส4 ต้องติดตาม ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธ.ค.นี้
ซึ่งผลจากที่สหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ไทยได้รับผลกระทบ เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง และกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งยังทำให้ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลง จากการเทขายหุ้นเพื่อนำเงินออก และยังเป็นปัจจัยกดดันให้ประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินทุนจากต่างชาติ
ส่วนการเลือกตั้งประธานนาธิบดีสหรัฐฯในช่วงกลางเดือน พ.ย. ก็จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของการค้าระหว่างสหรัฐฯกับภูมิภาคเอเชีย โดยหากนายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนาย ทรัมป์ มีนโยบายในการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และพยายามจะไม่เปิดการค้ากับภูมิภาคเอเชีย แต่หากนางฮิลลารี คลินตัน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรีฐ จะยังคงนโยบายที่มีการติดต่อค้าขายกับภูมิภาคเอเชียต่อ แต่จะมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าสมัยที่นายบารัค โอบามา เป็นผู้นำสหรัฐฯ
ซึ่งมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่เห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียงครั้งเดียว ในช่วงเดือน ธ.ค. หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 60 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งในเดือน ก.ย.และ พ.ย. เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.6% ทำให้ธนาคารสหรัฐฯมีโอกาสที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน
ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มองว่า ยังอยู่ในกรอบขยายตัว 2.5-3% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/59 จะขยายตัวที่ 3% โดยปัจจัยหนุนหลักยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐที่ยังช่วยเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ แต่ยังมีปัจจัยกดดัน คือภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับค่าเงินบาทนั้นธนาคารประเมินว่า สิ้นปีนี้อยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ และปีหน้าจะอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทช่วงนี้ยังผันผวนตามการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเห็นได้จากเม็ดเงินที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ลดลงมาอยู่ที่ 7.4 แสนล้านบาท หรือลดลงไปมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่านักลงทุนต่าชาติมีการโยกเงินเข้าไปในตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น