ไทยออยล์ได้รับการประกาศเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices ประจำปี 2016 และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานระดับโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ซึ่งเป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้ประกาศให้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกของ DJSI 2016 ต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ และยังคงรักษาคะแนนประเมินสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Industry Group Leader) เป็นปีที่สามติดต่อกัน เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของไทยออยล์ได้รับการยอมรับจากผู้ประเมิน ดังนี้
“เครือไทยออยล์ยังคงยึดมั่นในมาตรฐานที่เป็นเลิศด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแม้ในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นและความแปรปรวนของราคาน้ำมัน เครือไทยออยล์ลดการใช้น้ำและลดของเสียจากหลายโครงการด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการต่างๆ มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขที่เหมาะสม มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Public Participation) ตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือไทยออยล์ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและมวลชนสัมพันธ์เพื่อดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของชุมชนรอบโรงกลั่น และคณะกรรมการมีการประชุมเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกสู่ภายนอกเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด”
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า “บริษัทฯ กำหนดนโยบายและเป้าหมายการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นความสมดุลทั้ง 3 ด้านคือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มด้วยความเป็นธรรมมาโดยตลอด ทำให้บริษัทฯได้รับการประเมินให้เป็นสมาชิกของ DJSI ในปี 2016 นี้ ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้รับคะแนนประเมินสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Industry Group Leader)ต่อเนื่องเป็นปีที่สามอีกด้วย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานดังกล่าวประกอบด้วย อุตสาหกรรมถ่านหินและเชื้อเพลิงพลังงาน (Coal & Consumable Fuels) อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์และให้บริการสำรวจและผลิตพลังงาน (Energy Equipment & Services) อุตสาหกรรมให้บริการคลังและขนส่งน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas Storage & Transportation) อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซขั้นต้น (Oil & Gas Upstream and Integrated) และ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและก๊าซและการตลาด(Oil & Gas Refining & Marketing) ทั้งนี้ผลการประเมินของ DJSI ในปีนี้ เป็นเสมือนรางวัลแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน”
“ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของไทยออยล์ มาจากความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการการกำกับกิจการองค์กรอย่างเป็นธรรม มีระบบ โปร่งใส ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ โดยในปี 2558 นี้ไทยออยล์ได้ขยายการกำกับดูแลกิจการตลอดสายโซ่อุปทานโดยส่งมอบนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งมาตรการและแนวปฏิบัติผ่านคู่มือกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ แก่บริษัทในเครือ และสื่อสารแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ อาทิ คู่ค้า ลูกค้า ผู้ร่วมลงทุน ให้รับทราบและนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของไทยออยล์ ” นายอธิคม กล่าวเสริม
นายอธิคม กล่าวเพิ่มเติม “นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังประสบความสำเร็จในการประเมินในมิติของสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยสามารถบริหารจัดการไม่ให้มีการหกรั่วไหลของน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญได้หลายปีติดต่อกัน สามารถบริหารจัดการด้านการควบคุมคุณภาพอากาศเและน้ำที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ได้ดีกว่ามาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ ทั้งนี้ยังรวมถึงการลงทุนในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 สามารถลดการใช้พลังงานกว่า 4 แสนกิกะจูลคิดเป็นมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 150 ล้านบาท และเป็นผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 26,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ไทยออยล์ยังใส่ใจในการพัฒนาการดำเนินงานด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปลูกฝังแนวคิดความปลอดภัยในการทำงานที่ปลอดยาเสพติด และคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมร่วมกับพนักงานและผู้รับเหมา”
“ไทยออยล์ยังบริหารจัดการเชิงลึกในมิติสังคม ต้นปี 2559 ไทยออยล์ได้ดำเนินการการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้นตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของเครือไทยออยล์ครบถ้วนทุกกิจกรรมหลักของธุรกิจเพื่อกำหนด ป้องกัน บรรเทา และตรวจสอบ ทุกผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นซึ่งไม่พบประเด็นที่มีความเสี่ยงใด เนื่องจากไทยออยล์มีแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนที่เพียงพอในปัจจุบัน ได้แก่นโนบายสิทธิมนุษยชนในสถานที่ทำงานซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2558 และนโนบายธุรกิจและสิทธิมนุษยชนสำหรับคู่ค้าซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังประสบความสำเร็จในการสร้างความพึงพอใจของชุมชนรอบโรงกลั่นในระดับสูงด้วยการให้ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมในการบริหารงานผ่านกลยุทธ์ 3 ประสาน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ไทยออยล์ ชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ โดยผ่านกระบวนการ 5 ร่วมคือร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมเรียนรู้ และร่วมพัฒนา ด้วยการให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการตามเป้าหมายเดียวกัน เพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกัน” นายอธิคม กล่าว
“จากการได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานต่อเนื่องเป็นปีที่สามนั้น สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของไทยออยล์ต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มผ่านกรอบธรรมาภิบาลและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้กล่าวมาทั้งหมด” นายอธิคม กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น