แม้การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศจากวันละ 300 บาท กำลังเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ในปีนี้ค่อนข้างแน่นอนว่าจะยังไม่มีการอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยหม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ครั้งที่ 8/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปพิจารณาศึกษาสูตรคำนวณใหม่
เพื่อเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลในการพิจารณารวมกว่า 10 รายกาย ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย คาดว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้ราวปลายเดือนตุลาคมนี้ ส่วนข้อเรียกร้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น จะต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามความเป็นจริงด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 มกราคม 2560
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า จากการพิจารณาข้อมูลของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ที่ส่งมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีทั้งปรับและไม่ปรับอัตราค่าจ้าง โดยส่วนที่ปรับจะมาดูว่าคำนวณถูกหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ โดยที่ประชุมมีมติส่งเรื่องไปให้อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ไปศึกษาสูตรคำนวณใหม่ คาดว่าจะมีผลการพิจารณาของอนุเฉพาะกิจในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง เน้นเรื่องผลิตภาพแรงงาน ส่วนจะขึ้นรูปแบบไหนต้องรอการพิจารณาแบบไตรภาคี ว่าจะคงอัตราเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศบังคับใช้อัตราค่าจ้าง ผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉลี่ยใช้เวลา 60 วัน
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้าง ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 360 บาทต่อวัน เห็นว่า เป็นระดับที่สูงเกินไปเพราะการขึ้นทันทีอีก 60 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ จะเป็นผลร้ายมากกว่าดี โดยเฉพาะจะผลักดันให้ แรงงานต่างด้าวที่ขณะนี้มีอยู่เกือบ 3 ล้านคน ลักลอบมาค้าแรงงานในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังค่าแรงทั้งระบบต้องปรับขึ้น ซึ่งภาระดังกล่าวจะตกหนัก ที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม(SME) และอาจทำให้ธุรกิจขาดทุนจนปิดกิจการ
ทั้งนี้ภาคเอกชนเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการค่าจ้าง ที่การปรับขึ้นค่าแรงควรจะต้องยึดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ภาวะ เศรษฐกิจของประเทศ 2.ภาวะเงินเฟ้อ 3.ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ แต่ความสามารถในการจ้างของนายจ้างแต่ละขนาดกิจการและแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เท่ากันและสิ่งที่ห่วงคือ SME และโรงงานในต่างจังหวัดที่ไม่อาจจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นมาก
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างคงไม่พร้อมที่จะปรับขึ้นให้ได้ตามที่ขอ เพราะไม่มีสภาพคล่องพอ และถ้าปรับขึ้นก็อาจจะเป็นการช็อกได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีและหากจะปรับขึ้นในระดับที่พอรับได้ตามภาวะเงินเฟ้อ ไม่น่าจะปรับขึ้นเกิน 15-20 บาท ซึ่งเท่ากับปรับขึ้น 5% แต่เห็นว่าไม่ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ และดูตามระดับฝีมือแรงงานด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงาน
ข่าวเด่น