เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คืบหน้า'โครงการทุจริตจำนำข้าว'


 


ในที่สุดคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด  ก็มีมติเกี่ยวกับการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรี  ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร   โดยนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง   ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว   เปิดเผยว่า  คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง ได้พิจารณาสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด  น.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร    อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีความประมาทร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายในการรับจำนำข้าว  วงเงิน 178,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ฤดูการผลิต ในปี 55/56 และปี 56/57   จึงได้พิจารณาการรับผิดตามกฎหมายกำหนดให้อดีตนายกรัฐมนตรี  รับผิดชอบเฉพาะตัวแต่เพียงผู้เดียวในสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย 178,000 ล้านบาท   หรือคิดเป็นวงเงินต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 35,717 ล้านบาท
 
 
 
         
ซึ่งคณะกรรมการได้สรุปความเห็นความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า   เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือท้วงติง จะเกิดความเสียหายจากการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว  แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไปอีก ถือเป็นการจงใจที่ไม่ระงับยับยั้งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น  และไม่ทบทวนโครงการเมื่อนำหลักฐานมาพิจารณาส่งผลต่อความเสียหายต่อกระทรวงการคลัง
         
ส่วนประเด็นการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวตามที่หาเสียงเลือกตั้งและรายงานต่อสภานั้น ถือว่าไม่มีความผิด  แต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในด้านผู้บังคับบัญชาในการเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไป ซึ่งต้องระวังความเสียหายที่เกิดขึ้น  ส่วนความเสียหายในสัดส่วนร้อยละ 80 ที่เหลืออยู่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการพิจารณาขั้นต่อไป   เมื่อมีการชี้มูลความผิดเพิ่มเติม เบื้องต้นพบว่ามีหลายบุคคลเกี่ยวข้อง  มีการส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวดำเนินการเอาผิดต่อไป ซึ่งยังมีอายุความดำเนินคดีเอาผิด 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554
 
      
ทั้งนี้คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด  ซึ่งประกอบด้วย   ตัวแทนอัยการสูงสุด   กฤษฏีกา สตง. ตัวแทนกระทรวงการคลัง  และได้ส่งต่อไปยังรองปลัดกระทรวงการคลัง  เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาลงนามในขั้นต่อไป     ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อรับหนังสือแล้ว สามารถยื่นต่อศาลปกครองกลาง   เพื่อทุเลาคดีหรือเพิกถอนคดีดังกล่าว และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลปกครอง และยื่นให้กรมบังคับคดีดำเนินยึดทรัพย์ในขั้นต่อไป

ส่วนมุมองความคิดเห็นของประชาชน   กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว   โดยเก็บข้อมูลจากประชาชน 1,150 คน ทั่วประเทศ ต่อการใช้ มาตรา 44 ให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชน  ร้อยละ 63.4 เห็นด้วย เพราะจะทำให้ความจริงปรากฏเร็วขึ้น    ขณะที่ร้อยละ 36.6 ไม่เห็นด้วย และควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีไปตามกระบวนการมากกว่า
 
 
         
เมื่อถามถึงความเห็นต่อการออกคำสั่งให้มีการยึดทรัพย์กว่า 2 หมื่นล้าน   จากผู้กระทำผิด ประชาชนร้อยละ 44.2    ระบุว่าควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่น นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ รองลงมา ร้อยละ 27.7 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่คุ้มค่าแล้ว   และร้อยละ 14.8 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่น้อยไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ย. 2559 เวลา : 17:58:25
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 11:28 am