การรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของประเทศไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับในใช้ปี 2560-2564 ประกอบด้วย 10 ยุทธศาสตร์ ซึ่งมีหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ ด้วยการให้ความสำคัญกับดูแลสังคมผู้สูงอายุ
ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปี กว่า 11 ล้านคน และอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้คาดการณ์กันว่าปี 2560 ไทยจะมีผู้สูงอายุที่ติดบ้าน และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ประมาณ 3.7 แสนคน และภายในปี 2580 จะมีเพิ่มมากถึง 8.3 แสนคน
ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับว่า การดูแลสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีเครื่องมือดูแลหลายมาตรการ จึงได้ลงนามเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังออกมาตรการดูแลสังคมผู้สูงอายุ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้ เช่น การตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้ผู้มีอาชีพอิสระสมัครเป็นสมาชิกสะสมเงินออมระยะยาวในกองทุน กบช. เพื่อรับเงินบำนาญใช้ในยามเกษียณ การจัดทำที่อยู่อาศัยผ่านหลายโครงการ เช่น การเคหะแห่งชาติ (กคช.) นำบ้านออกจำหน่าย หากใครให้พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย มาอาศัยอยู่ด้วยจะลดราคาให้เป็นพิเศษและถูกเลือกให้สินเชื่อเป็นอันดับแรก
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีดึงดูดให้ภาคเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ จ้างผู้สูงอายุทำงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เอกชนร่วมดูแลผู้สูงอายุ รัฐบาลจึงต้องการผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ภาคเอกชนมีกำลังมีเครื่องมือก็ควรเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนภาครัฐจะร่วมสนับสนุน อาทิ ให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนกรณีการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น
ด้านพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อีก 20-30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ฉะนั้นกระทรวงแรงงานจะมีแผนดำเนินนโยบายโมเดลจ้างแรงงานผู้สูงอายุหลังเกษียณ ให้เป็นต้นแบบการหางานให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หลังเกษียณอายุให้มีงานทำ
ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานให้คนพิการและผู้สูงอายุ ไปแล้ว ส่วนขั้นตอนต่อไปจะมีการสำรวจข้อมูลต่างๆ เพื่อทำเป็นข้อมูลดำเนินการ เช่น สำรวจตามสถานประกอบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุทำงานเท่าไหร่ ฯลฯ และอนาคตเห็นว่า ทุกส่วนราชการจะต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อดำเนินการจ้างแรงงานผู้สูงอายุหลังเกษียณอย่างจริงจัง โดยกระทรวงแรงงานจะดูในเรื่องของการจ้างงานเป็นหลัก
ข่าวเด่น