เมื่อ 27 กันยายน 2559 ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand Agenda 2030: วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน”งาน 'Thailand SDGs Forum # 3: Thailand Sustainability Journey' ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
วันนี้ผมยินดีอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นสำคัญที่เรามักจะละเลยตามความเคยชินและแรงกดดันจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเรามักจะให้น้ำหนักกับปัญหาและความต้องการในช่วงสั้น ๆ และถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดและ กรอบกฎเกณฑ์กติกาแบบเดิม ๆ
ผมขอขอบคุณมูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างเวทีให้พวกเราในฐานะที่เป็นผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ได้มาร่วมกันพูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในทิศทางที่ยั่งยืน ในเช้าวันนี้ผมจะขอพูดถึงความสำคัญของ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศไทย และขอยก 4 ประเด็นหลักที่ผมคิดว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันหาทางขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คงจะไม่มีใครในแวดวงงานด้านพัฒนาที่ไม่ได้ยินคำว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า SDGs SDGs เป็นทั้งเป้าหมายและวาระของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้นำจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันรับรองว่าจะทำงานร่วมกัน เพื่อยุติความยากจน ความหิวโหย สร้างหลักประกันว่าคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดี เสมอภาคและตรงธรรม ตลอดจนรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศของโลก
ในปี 2015 ที่ประชุมสหประชาชาติได้กาหนด SDGs เป็นกรอบหลักของการพัฒนาในช่วงปี 2016-2030 ต่อยอดจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษหรือ Millennium Development Goals ที่เรารู้จักกันดีว่า MDGs ที่ได้ตกลงไว้ตั้งแต่ปี 2000 ถ้าเราจะมุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จริง ๆ แล้วเราคงต้องมองไกลกว่า ปี 2030 ช่วง 15 ปีข้างหน้าของ SDGs นี้ อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกประเทศและทุกภาคส่วน ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างรากฐานสาคัญสำหรับการพัฒนาระยะยาว ถ้าเราไม่ร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจัง ในช่วง 15 ปีข้างหน้านี้แล้ว โลกของเราและประเทศของเราอาจจะติดกับดักหลาย ๆ ด้านลึกลงไปอีกยากที่จะหลุดออกมาได้โดยง่าย
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในช่วง 15 ปีของ Millennium Development Goals จะพบว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในโลกดีขึ้นมากในหลายด้าน ประชากรโลกที่มีรายได้น้อยกว่า 2 USD ต่อวันลดลงจากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 10 จำนวนผู้ที่เผชิญกับความหิวโหยลดลงจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 11 และสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด สุขาภิบาลที่ดี และการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้เครื่องชี้อีกหลายด้านสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าโลกของเราได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น เช่น อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหน่วยมูลค่าเพิ่มปรับลดลงร้อยละ 13 และพื้นที่ทะเลหลักของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการปกป้องเพิ่มขึ้น
ตัวเลขเหล่านี้อาจจะดูน่าพอใจ แต่ถ้าลงในรายละเอียดแล้วจะพบว่า โลกยังมีประชากรอีกกว่า 700 ล้านคนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่มีแหล่งน้ำที่สะอาดและไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชากรในโลกเกือบ 900 ล้านคนยังต้องอาศัยในชุมชนแออัด ช่องว่างของการพัฒนากว้างขึ้นเมื่อเทียบระหว่างประเทศและภายในประเทศเดียวกัน การพัฒนาที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ขาดโอกาสที่จะวิ่งตามได้ทัน เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมรูปแบบใหม่ ๆ ในขณะที่ปัญหาโลกร้อนและระบบนิเวศของโลกส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นและรุนแรงขึ้น ปัญหาที่เราต้องเผชิญในวันนี้และระยะเวลาข้างหน้านี้จะรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น
แสดงให้เห็นว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนถ้าไม่เปลี่ยนกรอบแนวคิดของการพัฒนา การมุ่งทางานให้มากขึ้นในกรอบเดิม จะไม่เท่าทันต่อการแก้ไขปัญหา เป้าหมาย SDGs เป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาใหม่ ที่อาจจะช่วยให้เรามีโอกาสแก้ไขปัญหาที่เราต้องเผชิญในวันนี้ และวันข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน และตรงธรรม
รายงาน Global Risks Report ประจาปี 2016 ของ World Economic Forum ได้นำเสนอปัญหาที่เป็นความท้าทายใหญ่ของโลกไว้หลายด้าน ผมอาจจะขอยกตัวอย่างบางด้าน ที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาหรือการแก้ปัญหาตามกรอบความคิดเดิม ด้วยวิธีการแบบเดิมจะไม่เท่าทันต่อความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ปัญหาแรกเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Change ปัญหานี้จะมีผลกระทบรุนแรงมาก เพราะมีความเชื่อมโยงสูงกับปัญหาอื่น ๆ ศาตราจารย์ Jeffrey Sachs ที่เรารู้จักกันดี ท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันเป้าหมาย SDGs ได้เคยพูดไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นโจทย์ที่ยากมากอยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง แต่การแก้ไขจะยิ่งลำบากมากขึ้นเมื่อเพิ่มปัจจัยจากการขยายตัวของเมือง กระบวนการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ การขยายตัวของประชากรโลก และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำและดินอย่างเกินพอดี ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น
รายงานล่าสุดของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) แสดงให้เห็นว่าก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ระดับสูงที่สุดในรอบ 800,000 ปี และอุณหภูมิโลกอาจปรับเพิ่มขึ้นในปี 2100 ถึง 2.7 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมแม้ว่าทุกประเทศจะสามารถดำเนินการตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ได้ ก็ตาม ภาวะโลกร้อนดังกล่าวจะทำให้เกิดความผันผวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง บางพื้นที่จะโดนน้ำท่วมถาวร และบางพื้นที่จะกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งทำประโยชน์ไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเชื่อมโยงกับการขาดแคลนน้ำสะอาด ข้อมูลของ World Economic Forum แสดงให้เห็นกว่าร้อยละ 70 ของน้ำจืดในโลกถูกใช้เพื่อกิจกรรมทางด้านการเกษตร ตัวเลขดังกล่าวจะสูงถึงร้อยละ 90 ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา และเราจะต้องการน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอที่จะเลี้ยงดูประชากรโลกที่กำลังขยายตัว นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าและการอุตสาหกรรมในเอเชียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ในปี 2030 และความต้องการน้ำในโลกจะมากกว่าอุปทานน้ำอย่างยั่งยืนถึงร้อยละ 40 ภายในปี 2030 เมื่อมองไกลไปถึงปี 2050 OECD ได้
ประมาณการว่าประชากรโลกกว่า 4 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประชากรโลกในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อมีการขยายตัวของประชากรชนชั้นกลางที่บริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก ความต้องการพืชที่เป็นอาหารสัตว์จะสูงขึ้นมาก ในขณะที่พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกจะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นเมือง โรงงานอุตสาหกรรม และเส้นทางการคมนาคม พื้นที่ป่าจะถูกบุกรุกทาลายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่ World Economic Forum ได้พูดไว้ก็คือการเกิดโรคระบาด วิกฤตไวรัสอีโบลาในช่วงสองปีที่ผ่านมา หรือการแพร่กระจายของไวรัสซิกาในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการเกิดโรคระบาดยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะโรคระบาดประเภทใหม่ ๆ สำหรับทั้งคน สัตว์ และพืช ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยสำคัญที่สุดของการแพร่กระจายของโรค คือการขยายตัวของจำนวนประชากรและการอยู่ร่วมกันเป็นเมืองแต่ยังขาดแคลนบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานอย่างพอเพียง
ยิ่งไปกว่านั้น โรคเหล่านี้ไม่มีพัฒนาการด้านยารักษาอย่างเท่าทัน บริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพจะพัฒนายาสำหรับโรคเหล่านี้ขาดแรงจูงใจที่จะทำเพราะมีผลตอบแทนทางธุรกิจค่อนข้างต่ำ มีผู้ประมาณการว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดถึงปีละประมาณ 10 ล้านคนภายในปี 2050 หากยังไม่มีการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดคือเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าโรคแปลก ๆ ใหม่ ๆ จะไม่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่เราอาศัยอยู่ เราจึงต้องเตรียมพร้อมให้ทุกภูมิภาคมีวิธีการรับมือที่มีประสิทธิผลและรวดเร็วเพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยงไม่ให้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง หากเกิดโรคใหม่ ๆ ขึ้น
นอกจากปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดแล้ว ปัญหาต่อมาที่ World Economic Forum กล่าวถึงคือปัญหาเสถียรภาพทางสังคม เพราะสถาบันต่าง ๆ ของสังคมไม่สามารถรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถนำความคิดเห็นดังกล่าวไปสู่การปรับเปลี่ยนบริบททางสังคมและการเมืองได้อย่างสันติ หลายเหตุการณ์ที่กาลังเกิดขึ้นในเวลานี้แสดงให้เห็นว่าคนในโลกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในผู้นำองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือแม้กระทั่งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและภาคประชาชนด้วยกันเอง สถานการณ์เช่นนี้จะเร่งให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดของคนในสังคมแบบสุดโต่ง จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคมและสงครามกลางเมือง ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้จะไม่เป็นผลดีต่อการเตรียมรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่โลกต้องเผชิญ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกที่ควรได้อย่างรวดเร็วทันการณ์
ตัวอย่างปัญหาทั้งสามด้านที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นความเสี่ยงใหญ่ที่ประชากรในโลกกำลังเผชิญและเป็นสาเหตุสำคัญที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้การพัฒนาเดินไปในแนวทางของ SDGs สำหรับประเทศไทยเองเราอาจจะโชคดีที่เราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่วนเกิน แต่เราไม่อาจชะล่าใจได้ว่าความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะไม่ส่งผลกระทบต่อเราอย่างรุนแรง การตื่นตัวตอบรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อนำมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง แม้ว่าแนวทางการพัฒนาประเทศของเราที่ผ่านมาจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมาก เช่น เมื่อเทียบกับปี 2000 แล้ว สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนหรือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าวันละ 2 USD ปรับลดลงจากร้อยละ 42 เหลือร้อยละ 11 และอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยปรับเพิ่มขึ้นจาก 70.6 เป็น 74.4 ปี แต่เรายังมีคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนกว่า 7.3 ล้านคน โดยร้อยละ 80 ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในชนบท เรายังมีประชากรประมาณ 6.7 ล้านคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนไม่มากและมีความเสี่ยงที่จะกลับไปอยู่ใต้เส้นความยากจนได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันต่าและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง
นอกจากนี้ถ้าดูเครื่องชี้ SDGs ของประเทศไทยจะพบว่ามีหลายด้านที่เรายังทำได้ไม่ดี เช่น ตัวเลขด้านสาธารณสุขสะท้อนว่าเรามีจำนวนแพทย์ไม่พอเพียง มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงมาก และมีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูง ในด้านสิ่งแวดล้อม เรามีฝุ่นละเอียดในปริมาณสูง มีปริมาณของเสียและขยะต่อหัวต่อปีในระดับสูง รวมถึงมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหัวที่ยังน่าเป็นห่วง ในด้านสังคมเรายังมีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงและมีประชาชนจำนวนมากที่ยังยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันได้ ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างขึ้น แต่ระบบการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการทำให้ช่องว่างดังกล่าวแคบลงกลับไม่มีประสิทธิภาพ สะท้อนจากการที่ยังไม่สามารถทำให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้และคิดได้อย่างที่ควรจะเป็น
ภายใต้สภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะสั้น ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราต้องระมัดระวังไม่ให้ปัญหาเฉพาะหน้ามาบดบังเรื่องสำคัญในระยะยาว ประสบการณ์ของเราในช่วงที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าการให้น้ำหนักกับการใช้ทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นมากเกินควร อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่จะอยู่กับเราอีกนานและส่งผลให้ปัญหาระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควร
ตัวเลขเศรษฐกิจที่เราควรให้ความสำคัญจึงไม่ใช่แค่การเติบโตของ GDP ในปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องมองไปถึงอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาวด้วย เราต้องยอมรับความจริงว่า ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับกับดักเชิงโครงสร้างในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามารถทางเทคโนโลยีทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ กรอบกฎเกณฑ์กติกาที่อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการทาธุรกิจยุคใหม่ การขาดประสิทธิภาพของระบบราชการ และที่สำคัญคือโครงสร้างของประชากรไทยที่ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านแรงงาน เราจะมีจำนวนประชากรทรงตัวในอีก 15 ปีข้างหน้าเทียบกับปัจจุบันและหลังจากนั้นจะปรับลดลง สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 27 ในอีก 15 ปีข้างหน้า กล่าวคือในปี 2030 เราจะมีจำนวนคนเท่าเดิมแต่ทุก ๆ ประชากร 4 คนของเรา เราจะประกอบไปด้วยผู้สูงอายุ 1 คน โครงสร้างทางประชากรเช่นนี้จะสร้างปัญหาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นฐานะการออมของประเทศ ค่าใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและประชาชนในการรักษาพยาบาล การขาดแคลนบุคลากรในภาคสาธารณสุข การขาดแคลนแรงงานทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดไปจนถึงระบบการเมืองที่ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญ รัฐบาลและพรรคการเมืองจะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ มากกว่าการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไปข้างหน้า เหมือนกับที่ หลายประเทศอุตสาหกรรมหลักกำลังติดกับดักอยู่ในเวลานี้
เพื่อให้เราก้าวไปสู่ปี 2030 และอนาคตหลังจากนั้นได้อย่างเท่าทันกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นนั้น คำถามที่สำคัญไม่ใช่การคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอีก 15 ปีข้างหน้า คำถามที่สำคัญกว่าคือว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน ปัญหาหลายเรื่องถ้าเราปล่อยให้เกิดขึ้นรุนแรงแล้ว เราจะติดกับดัก สถานการณ์จะไหลลงเร็ว จนทำให้หลุดจากกับดัก หรือขึ้นมาจากหลุมได้ยากลำบากขึ้น ต้องสูญเสียทรัพยากรสูงขึ้นมาก ผมคิดว่าการคิดและการทำให้มากขึ้นในกรอบ ความคิดเดิม อาจจะไม่เพียงพอ การจัดการกับปัญหาหลายเรื่องอาจต้องอาศัยกรอบความคิดใหม่และวิธีการทางานเชิงรุกมากขึ้น ผมขอเสนอมุมมองใน 4 ประเด็นที่เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยกันผลักดันให้เราขับเคลื่อนไปในแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ประเด็นที่หนึ่ง การพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ของเพียงหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น และวิธีการทำงานของภาครัฐแบบเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้อย่างเท่าทัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา และผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาที่เราต้องเผชิญในอนาคตมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ แต่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐยังถูกจำกัดด้วยกรอบกฎเกณฑ์กติกาของแต่ละหน่วยงานมากกว่าที่จะเอาเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาเป็นที่ตั้ง ถ้าเราสามารถปรับกระบวนความคิดจากที่มักตั้งโจทย์ว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยงานมีกรอบอำนาจเพียงใดและหน่วยงานจะได้ประโยชน์อย่างไรเป็น “ประชาชนและสังคมไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร” จะทำให้การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนสูงมีโอกาสที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากภาครัฐจะต้องเปลี่ยนวิธีการทางานร่วมกันเองแล้ว ภาครัฐต้องยอมรับว่าจะไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ด้วยหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ต้องสนับสนุน เปิดพื้นที่ให้เกิดการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างมีพลัง โดยเฉพาะ สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยในฐานะผู้นำความคิดเพื่อให้การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนตั้งอยู่บนฐานของการรู้ลึกและรู้จริง ภาคประชาชนและประชาสังคมเพื่อให้ประชาชนและชุมชนเป็นเจ้าของแนวทางของการพัฒนา ตลอดจนมีส่วนร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนและกำกับทิศทางของการพัฒนา สำหรับภาคธุรกิจปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก เพราะภาคธุรกิจมีทรัพยากร มีข้อมูลและองค์ความรู้ รวมถึงมีทักษะในการบริหารจัดการที่ดี นอกจากนี้ ปัญหาหลายเรื่องของสังคมไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การใช้ปัจจัยการผลิตที่มีส่วนทำให้ทรัพยากรถูกทาลายลง ตลอดจนถึงการทำธุรกิจที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น ๆ ไม่คานึงถึงผลข้างเคียงต่อสังคม
ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าเราจะต้องปรับการให้น้ำหนักจากการ มองระยะสั้นไปสู่การมองระยะยาว การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวคิดระยะยาว และยาวเกินกว่าปี 2030 ด้วย กระแสต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญในชีวิตปัจจุบัน ทำให้เราให้ความสำคัญกับปัญหาระยะสั้น จนลืมคิดถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการบริโภคตามกระแสนิยมของสังคมมากกว่าการออมเพื่ออนาคต เราใช้เวลาในการรับและเชื่อข่าวสารแบบสั้น ๆ ตาม social media มากกว่าที่จะใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ เราเรียนหนังสือเพื่อมุ่งหวังแค่ให้สอบได้มากกว่าที่ต้องการจะรู้จริง หรือในบางช่วงเวลา เรามุ่งทำนโยบายเศรษฐกิจเพื่อหวังผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ มากกว่าการเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
การมุ่งทำแต่เรื่องระยะสั้น ต้องใช้ทรัพยากรเช่นกัน หลายเรื่องเป็นการเบียดบังทรัพยากรที่ควรจะใช้สำหรับการสร้างฐานระยะยาว การปรับน้ำหนักความสำคัญจากเรื่องระยะสั้นให้เป็นเรื่องระยะยาว จะต้องเริ่มจากพวกเราทุกคน เราคงต้องถามตัวเองว่าชีวิตของเราแต่ละคนในปี 2030 และหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร เรามีเหตุมีผลเพียงพอหรือยังในวิถีชีวิตในปัจจุบัน เราจะพอประมาณในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าในวันหน้าได้อย่างไร ถ้าเราสามารถนำแนวคิด “พอประมาณและมีเหตุมีผล” มาใช้ในทุกระดับของวิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคมแล้ว เชื่อได้ว่าเราจะสามารถวางรากฐานให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและตรงธรรม
ประเด็นที่สาม เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในทุกเรื่องหลักที่เราทำ โลกในอนาคตจะเป็นโลกที่มีความไม่แน่นอน และผันผวนสูง เราต้องมีกันชนรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจากภายนอกมากขึ้น ภูมิคุ้มกันต้องสร้างในหลายมิติ ในระดับประเทศ รัฐบาลก็ต้องระวังรักษาระดับหนี้สาธารณะให้เหมาะสมสามารถรองรับภาระผูกพันและความเสี่ยงในอนาคตได้ ธนาคารกลางก็ต้องรักษาทุนสำรองให้เพียงพอเพื่อรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในโลกและต้องดูแลให้ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีสัดส่วนเงินกองทุนที่สูงพอ ในระดับธุรกิจต้องระมัดระวังไม่ให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินควร ต้องกระจายหรือประกันความเสี่ยงหลัก ๆ ที่ธุรกิจต้องเผชิญ และต้องปรับตัวอยู่เสมอ และในระดับประชาชนต้องรักษาระดับเงินออมของตน รักษาสุขภาพ และรักษาจิตใจให้สามารถรับแรงปะทะใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้รุนแรงนั้น คุณภาพของคนไทยจะเป็นปัจจัยที่สาคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะถูกกระทบโดยเหตุการณ์อะไรก็ตาม คนไทยที่มีความรู้ มีทักษะในการคิดแก้ปัญหา มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี มีความสามารถในการปรับตัวสูง และมีวินัย จะเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย การพัฒนาคนจะเป็นรากฐานและภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุด สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและตรงธรรม
ประเด็นสุดท้ายคือเราจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเท่าทันกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและความรุนแรงของปัญหาที่เราจะต้องเผชิญ องค์กรที่เป็นสถาบันหลักต้องมีความเข้มแข็ง มองไปข้างหน้า สามารถเป็นผู้นำความคิด ชี้นำทิศทางของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรู้ลึกรู้จริง และกล้าที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศจะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบกฎเกณฑ์กติกาที่ล้าสมัย หรือกรอบกฎเกณฑ์กติกาที่เอื้อรักษาผลประโยชน์แบบเดิม ๆ ของคนกลุ่มเดิม ๆ ที่ไม่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง จะต้องส่งเสริมให้คนไทยกล้าที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งจะต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดช่องว่างด้านความรู้และโอกาส เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน สังคมไทยและเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทันกับความท้าทายใหม่ ๆ ถ้าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นสังคมที่มุ่งมองแบบแยก “ฉัน” แยก “เธอ” มากกว่าที่มองแบบ “เรา” หรือเป็นสังคมที่มองน้ำครึ่งแก้วแบบ “half empty” มากกว่าที่จะเป็น “half full”
ผมเชื่อว่าทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทยให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะไม่ใช่เพียงแค่ให้เราบรรลุถึงเป้าหมาย SDGs ในปี 2030 เท่านั้น แต่จะช่วยให้เรามีรากฐานที่แข็งแรงสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วย แต่ถ้าหากเราไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทันกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น และรุนแรงขึ้นได้แล้ว เราอาจจะติดกับดักในหลายมิติ ปัญหาต่าง ๆ ที่เราเผชิญอยู่จะไหลลงเร็ว จนเราอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแบบหมดหน้าตัก ยากที่จะขับเคลื่อนหรือคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อถึงเวลานั้น ไม่ใช่เพียงแค่คนไทยหรือเศรษฐกิจไทยจะแข่งขันไม่ได้เท่านั้น แต่ชีวิตของเราทุกคนก็จะอยู่ยากขึ้นด้วย การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน
ข่าวเด่น