ภายหลังผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งในที่สุดก็ได้ข้อตกลงเบื้องต้น ในการปรับลดกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยกลุ่มโอเปกจะจำกัดกำลังผลิตให้อยู่ระหว่าง 32.5-33 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ ลดกำลังการผลิตลงราว 7 แสนบาร์เรลต่อวัน เพื่อลดกระแสหวั่นวิตกเรื่องอุปสงค์น้ำมันดิบล้นตลาด ซึ่งรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ จะมีการสรุปขั้นสุดท้ายในที่ประชุมที่เป็นทางการ ของกลุ่มโอเปกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
ด้านโกลด์แมน แซคส์ ประกาศคงตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ และปีหน้า โดยระบุว่าแม้ข้อตกลงของกลุ่มโอเปก จะช่วยหนุนราคาในระยะสั้น แต่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มปริมาณน้ำมันในอนาคตมากนัก โดยธนาคารยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมัน WTI ที่ระดับ 43 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงสิ้นปีนี้ และที่ระดับ 53 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2017 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางธนาคาร ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในช่วงสิ้นปีนี้จากระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล
โดยนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ให้ความเห็นว่า แม้โอเปกรักษาข้อตกลงในการลดการผลิตน้ำมัน แต่ในระยะยาว การที่ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น จะดึงดูดให้ผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกเพิ่มการขุดเจาะน้ำมัน จะทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับลดลง
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าการประชุมของกลุ่มโอเปกอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ สามารถบรรลุผลสำเร็จในการกำหนดเพดานการผลิตของแต่ละประเทศ และการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกลดลงไปที่ระดับ 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจจะไม่มีผลต่อมุมมองราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับเฉลี่ย 48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560 แต่ถ้ากลุ่มโอเปกสามารถบรรลุผลสำเร็จในการลดการผลิตน้ำมันไปสู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะสามารถขึ้นไปยืนอยู่ได้ที่ระดับเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้นจากการกลับเข้ามาของ Shale Oil ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันได้
ส่วนอีไอซีมองราคาน้ำมันดิบในปี 2017 จะยังมีความผันผวน แต่มีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบ โดยอีไอซีคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2016 ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 48-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และคาดว่าในปี 2017 ราคาน้ำมันดิบ Brent จะอยู่ที่ 52-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน
โดยการที่กลุ่ม OPEC บรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบครั้งนี้ จะทำให้อุปทานน้ำมันดิบลดลงราว 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานส่วนเกินที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาดูการประชุมของกลุ่ม OPEC ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2016 ว่ากลุ่ม OPEC จะสามารถทำตามข้อตกลงในครั้งนี้ได้หรือไม่ นอกจากนี้ การกลับมาดำเนินการผลิตของผู้ผลิต shale ในสหรัฐฯ และท่าทีของรัสเซีย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะกลาง
ข่าวเด่น