กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2559 และความคืบหน้ากฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 2560 พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล
ดร. ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่สำคัญของกองทุนในปีงบประมาณ 2559 ว่า “กองทุนฯ ดำเนินการให้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 4,657,139 ราย ประกอบด้วย ผู้กู้ที่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว 489,684 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,133,661 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 880,950 ราย และอื่นๆ 41,454 ราย เป็นเงินงบประมาณจำนวนกว่า 4 แสนล้านบาท โดยผลการกู้ยืม ในปีการศึกษา 2559 มีนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมรายเก่าและรายใหม่รวมทั้งสิ้น 458,389 ราย แบ่งเป็นผู้ที่เรียน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 70,361 ราย ระดับปวช. 52,159 ราย ระดับปวท./ปวส. 55,800 ราย และอนุปริญญา/ปริญญาตรี 280,069 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมประมาณ 18,605 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2559)
ด้านผลการชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2559 เป็นปีแรกที่มีผู้กู้ยืม กยศ. มาชำระหนี้สูงถึง 20,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา 16.83 % ทั้งนี้ ผลการชำระหนี้ที่ดีขึ้นมากเป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างวินัยและความรับผิดชอบ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมถึงกองทุนฯ ได้มีมาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชี การสร้างความร่วมมือกับองค์กรนายจ้างที่เข้าโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ การเพิ่มความสะดวกในการชำระหนี้ด้วยรหัสการชำระเงิน (barcode) ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสและไปรษณีย์ไทยทุกสาขา นอกจากนั้น กองทุนฯ ยังได้ขยายความร่วมมือ กับธนาคารต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ผ่านทางธนาคารทหารไทยและธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ได้แล้ว
สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ... ขณะนี้อยู่ในชั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 โดยได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจ้างนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุนฯ และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืม เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืมที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระ หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกรณีที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการให้กู้ยืมและติดตามหนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน
ข่าวเด่น